1. รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2
2. เห็นชอบข้อเสนอในการดำเนินการต่อไปสำหรับการดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2
3. เห็นชอบการเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562 โดยจะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายภายใต้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
4. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการเสนอขอรับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เมื่อร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. ..... มีผลบังคับใช้
5. เห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 (เรื่อง ประชารัฐสวัสดิการการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ในส่วนของ ข้อ 4.1.1 (3) โดยเห็นชอบการปรับเปลี่ยนการเติมเงินรายเดือนวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นฯ (300 หรือ 200 บาทต่อคนต่อเดือน) เป็นการแบ่งเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิ จำนวน 200 หรือ 100 บาทต่อคนต่อเดือน และส่วนที่เหลือ 100 บาทต่อคนต่อเดือน ยังคงเติมเงินเข้าวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นฯ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2562 (3 เดือน) เพื่อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถถอนเงินสดผ่านตู้ ATM และสาขาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการฯ
ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 4,145,397 ราย ซึ่งได้รับการพัฒนาแล้วจำนวน 3,267,941 ราย และจากผลการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 สามารถติดตามได้ จำนวน 2,607,195 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ที่พัฒนาแล้ว สรุปได้ ดังนี้
(1) มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 1,566,353 ราย โดยแบ่งเป็นจำนวนที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,451,237 ราย (ก่อนพัฒนามีจำนวน 553,626 ราย) และรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี จำนวน 115,116 ราย (ก่อนพัฒนามีจำนวน 0 ราย)
(2) สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านการพัฒนาแล้ว แต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 1,012,727 ราย คงเหลือ 1,040,842 ราย (ก่อนพัฒนามีจำนวน 2,053,569 ราย) หรือคิดเป็นร้อยละ 50
2. ข้อเสนอในการดำเนินการต่อไป
จากผลการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าร่วมมาตรการฯ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการฯ มีผลสำเร็จซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหลุดพ้นจากเส้นความยากจน (Poverty Line) หรือมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปีมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และหลุดพ้นจากความยากจนหรือมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี มีจำนวนถึง 115,116 ราย จากเดิมก่อนพัฒนาที่ไม่มีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายใดมีรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี ดังนั้น เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพและการมีรายได้ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นควรขยายการดำเนินมาตรการฯ ต่อไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562 ภายใต้ชื่อ “มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2” (มาตรการฯ ระยะที่ 2) โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) หลักการและโครงสร้างการดำเนินงาน คงหลักการและโครงสร้างการดำเนินการเช่นเดียวกับการดำเนินมาตรการฯ ที่ผ่านมา และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 4,145,397 ราย มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ให้ได้รับการเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ในปี 2559 จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทในปี 2559 จะได้รับเงินจำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ต่อไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562
(2) กลุ่มเป้าหมายสำหรับมาตรการฯ ระยะที่ 2 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
(2.1) ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา
(2.2) ผู้ที่ผ่านการพัฒนาแล้วแต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
(3) การพัฒนาภายใต้มาตรการฯ ระยะที่ 2 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
(3.1) กลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนายังคงเหลือจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มดังกล่าวได้มีการแสดงความประสงค์ว่าจะเข้าร่วมพัฒนาในโครงการพัฒนาของหน่วยงานพัฒนาที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย (กรมการพัฒนาชุมชน) ธ.ก.ส. และ ธ.ออมสิน ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอให้หน่วยงานพัฒนาที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ในกลุ่มนี้ให้เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกภายใต้โครงการของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีของหน่วยงานนั้น ๆ หรืองบประมาณที่แต่ละหน่วยงานจะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป โดยการพัฒนาดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562
(3.2) กลุ่มผู้ที่ผ่านการพัฒนาแล้วแต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี เห็นควรให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถพัฒนาทักษะและศักยภาพจนสามารถประกอบอาชีพให้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอให้ ธ.ก.ส. และ ธ.ออมสิน ในฐานะผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดำเนินการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในกลุ่มนี้ต่อไป
(4) งบประมาณ การเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 4,145,397 ราย ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562 เป็นเงินจำนวน 4,370 ล้านบาท (ประมาณ 728 ล้านบาทต่อเดือน) โดยจะใช้จ่ายจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะดำเนินการเสนอขอรับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เมื่อร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มกราคม 2562--