เรื่อง แผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562 - 2565) : กัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม
1. เห็นชอบแผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562 - 2565) : ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) ราชอาณาจักรไทย (ไทย) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม)
2. เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในฐานะตัวแทนประเทศไทย จัดทำคำขอรายจ่ายงบประมาณประจำปี ทั้งงบประมาณภายในประเทศและต่างประเทศ ในการดำเนินงานตามภารกิจต่าง ๆ ตามแผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562 - 2565) : กัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม โดยยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี เนื่องจากปัญหายาเสพติดถือเป็นวาระแห่งชาติและอยู่ในกรอบนโยบายของฝ่ายความมั่นคง และแผนปฏิบัติการร่วมดังกล่าว มีความเร่งด่วนมาก จะต้องเริ่มปฏิบัติการในห้วงเดือนมกราคม 2562
ทั้งนี้ ให้กระทรวงยุติธรรม (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2565 ให้กระทรวงยุติธรรม (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
โดยเมื่อแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562 – 2565) : กัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม ประกาศใช้แล้ว ให้กระทรวงยุติธรรม (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) พิจารณาปรับแผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ระยะ 4 ปีฯ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติต่อไปด้วย
สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการร่วมฯ ระยะ 4 ปี เป็นการกำหนดทิศทางความร่วมมือแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำร่วมกันเป็นระยะ 4 ปี โดยใช้ยุทธศาสตร์การผนึกกำลังของสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ในการปิดล้อมพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและกำหนดมาตรการดำเนินการ 7 ประการ ได้แก่ (1) การสกัดกั้นควบคุม สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด (2) การสกัดกั้นเส้นทางลำเลียงยาเสพติด (3) การสกัดกั้นพื้นที่เสี่ยงตามแนวชายแดน (4) การปราบปรามเครือข่ายการผลิตและค้ายาเสพติด (5) การสกัดกั้นยาเสพติดตามลำแม่น้ำโขง (6) การสนับสนุนมาตรการและความช่วยเหลือ และ (7) การพัฒนาศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยและการพัฒนาระบบ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มกราคม 2562--