ร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday January 29, 2019 18:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ประเด็น / รายละเอียด/เหตุผล

1. เพิ่มเติมบทนิยาม

“ทรัพยากรพันธุกรรม” “สารพันธุกรรม” “อนุพันธ์” “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ระหว่างบทนิยามคำว่า “แบบผลิตภัณฑ์” และคำว่า “ผู้ทรงสิทธิบัตร” เพื่อรองรับหลักการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources: GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge: TK) และการเป็นจุดตรวจสอบภายใต้พิธีสารนาโงยาฯ รวมทั้งอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CBD) ซึ่งไทยเป็นสมาชิกแล้ว

2. ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณางานที่ปรากฏอยู่แล้ว

กำหนดเพิ่มเติมกรณีที่มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรครั้งแรกไม่ว่าจะในหรือนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าวันยื่นคำขอครั้งแรกนั้นเป็นวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรซึ่งสอดคล้องกับหลักการ Claim Priority ซึ่งถือเป็นหลักการสากล

3. เพิ่มเติมสิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้

กำหนดเพิ่มเติมให้ ศัลยกรรม และ วิธีการดำเนินธุรกิจ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ เพื่อให้ถ้อยคำครบถ้วนตาม TRIPS Art 27 ข้อ 3 (a) ซึ่งมีคำว่า “surgical methods” และกำหนดให้ชัดเจนว่าวิธีการดำเนินธุรกิจ (Business Method) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ เพราะไม่ใช่การประดิษฐ์ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี

4. เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อรองรับการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น

กำหนดให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรระบุแหล่งที่มา และยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตก่อนการเข้าใช้ และข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์มาพร้อมคำขอด้วย เพื่อรองรับหลักการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources: GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge: TK)

5. ปรับปรุงแก้ไขขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ให้มีความชัดเจนและรวดเร็วขึ้น
  • กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการขอรับการจดสิทธิบัตรใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับหลักสากล เช่น ลดระยะเวลาแยกคำขอรับสิทธิบัตร กรณีคำขอรับสิทธิบัตรมีการประดิษฐ์หลายอย่าง จากเดิม 120 วัน เป็น 90 วัน ลดระยะเวลาการขอให้ตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์จาก 5 ปีเป็น 3 ปี เป็นต้น
  • กำหนดองค์ประกอบรายงานการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรเบื้องต้นใหม่เพื่อให้ชัดเจน และเข้าใจง่าย
  • ปรับปรุงกระบวนการคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยย้ายการคัดค้านก่อนการตรวจสอบการประดิษฐ์มาไว้ภายหลังจากตรวจสอบการประดิษฐ์ แต่ก่อนการรับจดทะเบียน
  • กำหนดหลักเกณฑ์และผลของการถอนคำขอรับสิทธิบัตรให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ขอมีสิทธิเลือกที่จะไม่ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรต่อไป
6. ยกเลิกการให้ผู้ทรงสิทธิบัตรอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิบัตรแทนตน และกำหนดวิธีการจดแจ้งการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร
  • กำหนดให้ยกเลิกการจดทะเบียนอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิบัตรแทนผู้ทรงสิทธิบัตร เพื่อรองรับระบบการแจ้งการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร
  • กำหนดวิธีการจดแจ้งการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร โดยเปลี่ยนจากการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นการจดแจ้ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้มีระบบอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็น
7. ปรับปรุงอำนาจหน้าที่อธิบดีกรณีผู้ทรงสิทธิบัตรไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปี

กำหนดให้อธิบดีสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรที่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีแทนคณะกรรมการสิทธิบัตร เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงาน

8. เพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อส่งออกเภสัชภัณฑ์ตามมาตรา 31 bis ของ TRIPS Agreement

กำหนดว่ากรณีหากเกิดความขาดแคลนเภสัชภัณฑ์ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกมีศักยภาพในการผลิตเภสัชภัณฑ์ไม่เพียงพอ และประเทศนั้นได้แจ้งความต้องการที่จะนำเข้าเภสัชภัณฑ์ต่อองค์การการค้าโลกแล้ว กระทรวงอาจใช้สิทธิตามสิทธิบัตรอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผู้ทรงสิทธิบัตรอยู่แล้ว เพื่อผลิตและส่งออกเภสัชภัณฑ์ไปยังประเทศดังกล่าวได้ โดยดำเนินการเองหรือให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน รวมทั้งวางกรอบการกำหนดค่าตอบแทน เงื่อนไข และข้อจำกัด สิทธิของกระทรวง เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลง TRIPS Art 31 bis

9. เพิ่มเติมหมวด 2/1 การยื่นคำขอระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty : PCT)

เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิยื่นคำขอสิทธิบัตรสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาในไทย สามารถยื่นขอจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ ซึ่งเป็นหลักการตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร เดิมกำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร พ.ศ. 2522

10.ปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับอนุสิทธิบัตร

แก้ไขกรอบเวลาการเปลี่ยนแปลงประเภทของสิทธิจากสิทธิบัตรเป็นอนุสิทธิบัตร หรือจากอนุสิทธิบัตรเป็นสิทธิบัตรจากเดิม 5 ปีเป็น 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์

11. เพิ่มเติมการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์

กำหนดให้การยื่นคำขอและการดำเนินการต่าง ๆ ให้ทำได้ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นที่อธิบดีกำหนดได้

12.ปรับปรุงบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
  • ปรับปรุงค่าธรรมเนียมคำขอต่าง ๆ เช่น คำขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร เดิม ฉบับละ 1,000 บาท เป็น 2,500 บาท ใบแทนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร เดิม ฉบับละ 100 บาท เป็น 1,000 บาท เป็นต้น
  • เพิ่มเติมค่าธรรมเนียมคำขอต่าง ๆ ซึ่งเดิมไม่มี เช่น คำขอแยกการประดิษฐ์ ฉบับละ 2,500 บาท คำขอถอนคำขอรับสิทธิบัตรหรือนุสิทธิบัตร ฉบับละ 500 บาท เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มกราคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ