1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
3. ให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. ปรับปรุงบทนิยาม คำว่า “พยาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือศาล ในการดำเนินคดีอาญารวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ แต่มิให้หมายความรวมถึงจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน และเพิ่มบทนิยาม คำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” เพื่อให้เกิดความชัดเจนเหมาะสมยิ่งขึ้น
2. กำหนดให้คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นคดีมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน
3. กำหนดให้ในกรณีที่พยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัย อาจจัดให้พยานอยู่ในความคุ้มครองตามที่เห็นเป็นการสมควร หรือตามที่พยานหรือบุคคลใดซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ร้องขอ การคุ้มครองให้พยานได้รับความปลอดภัยให้รวมถึงการจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย เว้นแต่พยานจะไม่ให้ความยินยอม และการปกปิดมิให้มีการเปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพหรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยานได้
4. กำหนดให้ในระหว่างรอการพิจารณา ตามมาตรา 9 กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันมิให้พยานได้รับอันตราย สำนักงานคุ้มครองพยานอาจใช้มาตรการทั่วไปในการคุ้มครองพยานไปพลางก่อนหรือประสานหน่วยงานอื่นที่มีภารกิจเกี่ยวข้องให้การคุ้มครองความปลอดภัยไปก่อนได้
5. การดำเนินการเพื่อคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษ เช่น ย้ายที่อยู่หรือจัดหาที่พักอันเหมาะสม จ่ายค่าเลี้ยงชีพ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน และพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การจ่ายเงินดำรงชีพที่เหมาะสม ให้กับพยานและผู้ใกล้ชิดกับพยานที่ได้รับผลกระทบจากการมาเป็นพยานในคดีอาญา
6. ให้สำนักงานคุ้มครองพยานได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ เช่นเดียวกับข้าราชการทหารและตำรวจตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ การมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน และยุทธภัณฑ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด
7. การปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเฉพาะเรื่องที่ได้รับมอบหมาย
8. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้จะต้องผ่านการอบรมตามที่กำหนดและมีอำนาจ ซึ่งได้แก่ (1) สอบปากคำผู้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ (2) มีหนังสือเรียกบุคคลใด ๆ มาเพื่อให้ถ้อยคำเพื่อประกอบการพิจารณา (3) ประสานกับพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล เพื่อให้มีการปกปิดชื่อของพยาน (4) การตรวจค้นควบคุมตัวบุคคลหรือยานพาหนะที่มีเหตุเชื่อว่าจะก่อภยันตรายหรือคุมคามพยาน เป็นต้น
9. กำหนดโทษสำหรับผู้ที่เปิดเผยความลับเกี่ยวกับสถานที่อยู่ ชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพหรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่น ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กำหนด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มกราคม 2562--