1. อนุมัติให้ดำเนินโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ของกรมการขนส่งทางบก โดยให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานรายปีในส่วนอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ขณะที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และครื่องมือและอุปกรณ์และเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการฯ (Operation and Maintenance : O&M) ในส่วนอาคารและพื้นที่ใช้สอยในการรับผิดชอบของเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางตามกรอบระยะเวลา รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐตลอดระยะเวลา 30 ปี นับจากปีที่เปิดให้บริการพร้อมทั้งขอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของโครงการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีด้วย โดยขอให้คำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงการฯ เช่น การพัฒนาศูนย์การขนส่งในพื้นที่ใกล้เคียง การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าต่าง ๆ เป็นต้น
2. อนุมัติกรอบวงเงินรวมสำหรับค่างานที่เกี่ยวข้องกับค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 738.56 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายเงินจริงต่อไป
3. มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ของโครงการฯ รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการนโยบายฯ ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ประธานกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ รายงานว่า โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ของกรมการขนส่งทางบกมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ / รายละเอียดโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม
1. เป็นสถานีปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศไทยไปสู่ภายในประเทศรวมถึงเชื่อมต่อระบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่ทางรถไฟร่วมกับโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่ – นครพนม รองรับการขนส่งสินค้าจากทางตอนใต้ของประเทศจีนและทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามกับภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
2. เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์หรือสินค้าบรรจุหีบห่อ (Break – Bulk Cargo)
3. เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ทำให้สามารถดำเนินการพิธีการที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกได้ในจุดเดียวขอบเขตของโครงการเป็นการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ซี่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางถนน เน้นการรองรับกิจกรรมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R12 (ไทย – ลาว – เวียดนาม – จีนตอนใต้) และรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากถนนสู่ระบบราง ผ่านเส้นทางรถไปทางคู่สายบ้านไผ่ – นครพนม โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนหัวหางลากพ่วงรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ การให้บริการยกขนตู้สินค้า การให้บริการเช่าใช้พื้นที่อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า อาคารคลังสินค้า ตลอดจนการพัฒนาและให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์
ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของด่านพรมแดนและด่านศุลกากรนครพนม และใกล้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 และสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 รวมทั้งมีความเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่ – นครพนม มีขนาดพื้นที่รวม 115 ไร่ 1 งาน 34 ตารางวา โดย คค. อยู่ในขั้นตอนการเสนอร่างพระกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม พ.ศ. ....
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งว่า โครงการฯ ไม่เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมขอให้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) อย่างเคร่งครัด
- ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนเมษายน 2562
- ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนภายในเดือนตุลาคม 2562
- เริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ รัฐเป็นผู้ดำเนินการภายในเดือนกันยายน 2562
- เริ่มก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และเครื่องมือและอุปกรณ์ (เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ) ภายในเดือนมีนาคม 2563
- เปิดให้บริการภายในเดือนตุลาคม 2564
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นควรลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost กำหนดเวลาการให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยภาคเอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้และจ่ายค่าสัปทานให้ภาครัฐตลอดระยะเวลา 30 ปี นับจากปีที่เปิดให้บริการ ซึ่งเอกชนจะได้รับผลตอบแทนทางการเงิน ร้อยละ 9 (ประมาณการรายได้ 30 ปี เป็นเงิน 3,973.26 ล้านบาท) กำหนดรูปแบบการให้สิทธิในทรัพย์สินของโครงการแบบ Build – Transfer – Operate (BTO) โดยเอกชนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนให้กับกรมการขนส่งทางบกเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนเปิดให้บริการ และกรมการขนส่งทางบกจะทำหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการกับเอกชนเพื่อบริหารจัดการและบำรุงรักษาตลอดระยะเวลาสัมปทาน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มกราคม 2562--