ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป

ข่าวการเมือง Tuesday January 29, 2019 19:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน ก.ก.ต.) เสนอแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ดังนี้

สำนักงาน ก.ก.ต. เสนอว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยให้กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้การดำเนินงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

1. กำชับให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดถือปฏิบัติตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 ในการให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

อนึ่ง แนวทางมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวม 2 มติ ได้แก่

1) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2543 [เรื่อง มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้ง]

2) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 [เรื่อง สรุปผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้ง] สรุปได้ดังนี้

1.1 แนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2543

(1) กำชับข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดทุกประเภท

ทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 โดยเคร่งครัดโดยเฉพาะการให้ความร่วมมือช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง รวมทั้งการวางตัวเป็นกลางของข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทและทุกระดับดังกล่าวด้วย

(2) นับแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง การแต่งตั้ง (โยกย้าย) ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทและทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้พิจารณาเท่าที่จำเป็น รวมทั้งไม่ควรจัดให้มีการฝึกอบรมหรือประชุมสัมมนาในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 วันก่อนวันเลือกตั้งเพราะอาจจะกระทบต่ออัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องปฏิบัติงานการเลือกตั้ง

1.2 แนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550

(1) ประกาศให้การแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว

(2) ให้มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัครด้านความปลอดภัยเพื่อให้การคุ้มครองประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้รับความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

(3) ขอรับการสนับสนุนด้านบุคลากรและสถานที่จากหน่วยงานของรัฐในการจัดการเลือกตั้งซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 ให้กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และท้องถิ่นให้ความร่วมมือช่วยเหลือและสนับสนุนในการดำเนินการเลือกตั้ง

(4) ให้กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และท้องถิ่นให้การสนับสนุนเกี่ยวกับสถานที่ปิดประกาศและที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในบริเวณสาธารณสถานของรัฐ สถานที่สำหรับให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองใช้ในการโฆษณาหาเสียงและออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ของรัฐสำหรับผู้สมัครและพรรคการเมืองให้เพียงพอและเท่าเทียมกัน

(5) ให้คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจวางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด

2. ให้การสนับสนุนสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

3. ให้การสนับสนุนการดำเนินงานในการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านทางสื่อต่าง ๆ ของรัฐ ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หอกระจายข่าว และเสียงตามสาย

4. เห็นชอบในหลักการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถสนับสนุนการเลือกตั้งได้ตามความเหมาะสม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มกราคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ