คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการตรวจพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ประกอบด้วย หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทุกกระทรวง หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ และเจ้าหน้าที่สำนักตรวจราชการที่ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย จำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การได้มา และการทำหน้าที่ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน (ทปษ. ภาคประชาชน) วางแนวทางปฏิบัติงานของ ทปษ. ภาคประชาชน เพื่อการมีส่วนร่วมกับกลไกการตรวจราชการอย่างมีประสิทธิภาพ พิจารณาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเพื่อเสนอชื่อเป็น ทปษ. ภาคประชาชน และ เสนอความเห็นต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในการปฏิบัติงานของ ทปษ. ภาคประชาชน เป็นต้น
2. กำหนดให้ในจังหวัดหนึ่งให้มี ทปษ. ภาคประชาชน จำนวน 4 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านวิชาการ ด้านละไม่เกิน 3 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อมูล ข้อเท็จจริง และประเด็นปัญหาในพื้นที่แก่ผู้ตรวจราชการในเรื่องที่ตรวจราชการหรือตามที่ได้รับการประสานงาน เข้าร่วมการตรวจราชการกับผู้ตรวจราชการตามที่ได้รับการประสานงาน นำนโยบายและผลงานของหน่วยงานที่ได้รับจากการเข้าร่วมการตรวจราชการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ และรับฟังข้อมูลย้อนกลับเสนอต่อผู้ตรวจราชการ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ผู้ตรวจราชการมอบหมาย
3. กำหนดให้ สปน. จัดทำการประเมิน ทปษ. ภาคประชาชน เพื่อพัฒนากลไก ทปษ. ภาคประชาชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน และให้นำผลการประเมินไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ
4. กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และจริยธรรมของ ทปษ. ภาคประชาชน
5. กำหนดให้ สปน. จัดทำข้อมูลสารสนเทศของ ทปษ. ภาคประชาชน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนากลไก ทปษ. ภาคประชาชน ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจราชการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
6. กำหนดให้จังหวัด ส่วนราชการระดับจังหวัด และอำเภอหรือเขต ให้ความร่วมมือและสนับสนุน ทปษ. ภาคประชาชนในการปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่
7. กำหนดให้ผู้ตรวจราชการสนับสนุนกลไก ทปษ. ภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจราชการ เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562--