ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาว่าด้วยความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์

ข่าวการเมือง Tuesday February 12, 2019 18:22 —มติคณะรัฐมนตรี

1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ แห่งสหภาพเมียนมาว่าด้วยความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์

2. เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ พม. ดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังตามมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 2558)

สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ มุ่งป้องกันและปราบปรามบุคคลและกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยเชื่อมั่นว่า การปราบปรามการค้ามนุษย์และการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยการร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ และจะเพิ่มพูนความร่วมมือระดับทวิภาคีอันเป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองประเทศในการต่อต้านการค้ามนุษย์และกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างคู่ภาคี โดยมีมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และมาตรการควบคุมชายแดนที่เข้มงวดเกี่ยวกับการตรวจหนังสือเดินทางและบัตรผ่านแดนที่จุดตรวจชายแดนระหว่างสองประเทศ การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เช่น ให้คู่ภาคีพัฒนาหลักเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหาย และแนวปฏิบัติทั่วไปว่าด้วยการคัดแยกและส่งตัวผู้เสียหายของกระบวนการความร่วมมือระดับรัฐมนตรีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ และกฎหมายภายในของภาคีแต่ละฝ่าย ความร่วมมือในการปราบปรามการค้ามนุษย์ เช่น ให้หน่วยงานของคู่ภาคีที่รับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมายร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เช่น การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์ข้ามชาติ การส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามกฎหมายภายในของภาคีแต่ละฝ่าย การส่งกลับและการกลับคืนสู่สังคม โดยให้คู่ภาคีนำมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานทวิภาคีว่าด้วยการบริหารจัดการคดีและการส่งกลับและการกลับคืนสู่สังคมของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มาใช้ปฏิบัติ ซึ่งประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เช่น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและทันกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และเพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันกลุ่มเสี่ยงมิให้ถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เคยจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในลักษณะเดียวกันนี้กับประเทศอื่น ๆ แล้ว เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ