คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างข้อมติรัฐมนตรีเรื่อง Enhancing Cooperation, Harmonization and Integration in the Era of Transport Automation และกรณีที่มีการปรับปรุงแก้ไขร่างข้อมติฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะผู้แทนไทยโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
1. ร่างข้อมติรัฐมนตรีฯ นำเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือและการบูรณาการด้านการขนส่งในยุคดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เช่น ระบบขนส่งอัจฉริยะ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ การนำร่องด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และการขนส่งสินค้าทางเรืออัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง และสามารถแก้ไขปัญหาด้านการขนส่ง ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างเต็มสมรรถนะนั้นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีกรอบการดำเนินงานและการกำกับดูแลที่มีความสอดคล้องกันทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศภายใต้คณะกรรมการว่าด้วยการขนส่งทางบกของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับยุโรป ซึ่งเป็นเวทีเพื่อกำหนดกรอบการกำกับดูแลระหว่างประเทศสำหรับการขนส่งภายในประเทศ
2. ร่างข้อมติรัฐมนตรีฯ ตกลงร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
(1) ยืนยันความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างบทบาทของคณะกรรมการว่าด้วยการขนส่งทางบกในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งภายในประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยการจัดให้มีเวทีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการนำระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาใช้กับระบบ e-TIR และ e-CMR สำหรับเอกสารขนส่งทั่วไป ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ การเดินเรือด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบขนส่งอัจฉริยะ และการให้บริการข้อมูลการขนส่งทางน้ำ ซึ่งถือเป็นแกนหลักของกลยุทธ์ของคณะกรรมการฯ จนถึงปี ค.ศ. 2030 เพื่อพัฒนาความปลอดภัยทางถนนและสร้างเสริมสมรรถนะในการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดให้มีบริการด้านการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ
(2) แสดงความมุ่งมั่นที่จะทำให้มั่นใจว่าการทำหน้าที่กำกับดูแลงานที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการฯ ก้าวทันต่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้วยทรัพยากรที่มีและมีความสำคัญสูงสุดสำหรับองค์กรเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมขนส่งอย่างเปิดกว้าง ครอบคลุม และให้ประเทศสมาชิกแห่งสหประชาชาติทั้งปวงสามารถเข้าถึงได้
(3) เชิญชวนประเทศสมาชิกให้สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการขนส่งภายในประเทศอย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะเน้นย้ำการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานเป็นระบบคอมพิวเตอร์ภายใต้อนุสัญญาด้านการขนส่งแห่งสหประชาชาติ ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการฯ และหน่วยงานย่อยภายใต้คณะกรรมการฯ
(4) ให้คำมั่นที่จะดำเนินการตามระบบ e-TIR อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นผลจากการบังคับใช้ภาคผนวก 11 ของอนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศภายใต้เอกสารอำนวยความสะดวกในการขนส่ง (อนุสัญญา TIR) รวมทั้งทำให้มั่นใจว่าจะมีงบประมาณรองรับสำหรับการนำระบบ e-TIR มาใช้ในระดับประเทศ รวมถึงสนับสนุนการภาคยานุวัติและการปฏิบัติตามระบบ e-CMR (หรือ Convention on the Contract for the International Carriage of Goods by Road เป็นอนุสัญญาที่กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางถนน)
(5) แสดงความเชื่อมั่นว่าการสร้างความสอดคล้องคือ พื้นฐานที่สำคัญของการปฏิบัติงานร่วมกันของระบบขนส่ง และการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้กับการขนส่งภายในประเทศสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบขนส่ง ป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนน และลดภาวะจากก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ จะมีการรับรอบข้อมติฯ ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ของการประชุมระดับสูง (High – level Policy Segment) ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ภายใต้หัวข้อ “Automation in Transport” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปีของคณะกรรมการว่าด้วยการขนส่งทางบก ครั้งที่ 81 ภายใต้คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับยุโรป (UNECE) ระหว่างวันที่ 17 – 24 กุมภาพันธ์ 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562--