มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Start-up & Innobiz)

ข่าวการเมือง Tuesday February 26, 2019 16:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Start-up & Innobiz)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Start-up & Innobiz) และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นวงเงินไม่เกิน 1,360 ล้านบาท โดยขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และปีต่อ ๆ ไป ตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี

ทั้งนี้ ให้ บสย. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยในส่วนของการชดเชยค่าประกันชดเชยรายปีขอให้ บสย. ใช้เงินรายได้จากค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อของโครงการก่อน หากไม่เพียงพอจึงขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

2. เมื่อคณะรัฐมีมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการแล้ว ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้ดำเนินโครงการจัดทำประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งหมด และแจ้งให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและ กค. ทราบ และเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ให้ บสย. เสนอรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บสย. ได้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) จำนวนทั้งสิ้น 1,212 ราย วงเงินค้ำประกันรวม 1,994 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายกรอบวงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท ที่กำหนดไว้ เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการ รวมถึงวงเงินค้ำประกันต่อรายอาจยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย

2. เนื่องจากโครงการดังกล่าวข้างต้นสิ้นสุดการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรมที่มีศักยภาพให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้เพิ่มขึ้น บสย. จึงเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Start-Up & Innobiz) ซึ่งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ดังนี้

หลักการโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Start-up Innobiz)

วัตถุประสงค์
  • เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เป้าหมายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมในกลุ่ม Start-Up & Innobiz ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้เพิ่มขึ้น
  • เพื่อเพิ่มผลิตภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมในประเทศ ส่งผลต่อการเพิ่มของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ SMEs และ GDP ของประเทศ
  • เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายของภาครัฐและเอกชนเพื่อให้การช่วยเหลือ SMEs ในกลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
วงเงินค้ำประกันโครงการ

8,000 ล้านบาท

รูปแบบการค้ำประกัน

Package Guarantee Scheme

อายุการค้ำประกันโครงการ

ไม่เกิน 10 ปี

สถาบันการเงิน

ธนาคารพาณิชย์ (Bank) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs)

ระยะเวลารับคำขอค้ำประกัน

2 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ

วงเงินค้ำประกันต่อราย SMEs รวมทุกสถาบันการเงิน

ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย รวมทุกสถาบันการเงิน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

วงเงินค้ำประกันต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน/ผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) / ผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Innobiz)

บุคคลธรรมดา / ไม่เกิน 5 ล้านบาท / ไม่เกิน 10 ล้านบาท

นิติบุคคล / ไม่เกิน 10 ล้านบาท / ไม่เกิน 40 ล้านบาท

ทั้งนี้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ บสย. และการยื่นขอให้ค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท

สินเชื่อที่ให้ค้ำประกัน

สินเชื่อเพื่อธุรกิจทุกประเภท (สินเชื่อใหม่) ยกเว้น สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อเช่าแบบลิสซิ่ง สินเชื่อแฟ็กเตอริง

ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน

อัตราไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันตลอดอายุการค้ำประกันโครงการ โดย บสย. สามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่รัฐบาลจ่ายแทน SMEs ในแต่ละปี ตามความเหมาะสมของแต่ละระดับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ รัฐบาลรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการไม่เกินร้อยละ 2 ตลอดอายุการค้ำประกัน

คุณสมบัติ SMEs

1. เป็น SMEs ที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท

2. เป็น SMEs ประเภทบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย

3. เป็น SMEs ที่ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี

4. เป็น SMEs ที่ได้รับสินเชื่อใหม่ และต้องไม่นำไปชำระหนี้เดิมกับสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อ

5. เป็น SMEs ที่เป็นลูกหนี้จัดชั้นปกติหรือจัดชั้นดังกล่าวถึงเป็นพิเศษ ตามเกณฑ์ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย

6. เป็น SMEs ที่ผ่านการคัดกรองความเสี่ยงของลูกค้าตามเกณฑ์ที่ บสย. กำหนด

7. กรณีเป็น SMEs ผู้ประกอบการรายใหม่ (Start-up SMEs) มีอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี โดยพิจารณาจากการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือการจดทะเบียนการค้า หรือเอกสารทางราชการ หรือเอกสารอื่นใดที่ บสย. เห็นชอบ

8. กรณีเป็น SMEs ผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Innobiz)

8.1 เป็น SMEs ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบด้วยเครื่องมือในการประเมินเทคโนโลยี (Thailand Technology Rating System : TTRS) หรือเกณฑ์อื่น ๆ ตามที่ บสย. กำหนด

8.2 เป็น SMEs ที่มีรายชื่อผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากหน่วยงานรัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ บสย. เห็นชอบ

ความรับผิดชอบในการจ่ายค่าประกันชดเชยของ บสย.

1. บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระหนี้ต้นเงินคงเหลือ แต่ไม่เกินวงเงินค้ำประกัน เมื่อสถาบันการเงินได้ดำเนินคดีกับ SMEs แล้ว

2. บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อล่วงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ออกหนังสือค้ำประกัน

3. บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกินค่าธรรมเนียมที่ได้รับ บวกเงินสมทบที่ได้รับการเบิกจ่ายจากรัฐบาลร้อยละ 15 และเงินสมทบของ บสย. ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน

4. บสย. จะรับผิดชอบจ่ายค่าประกันชดเชยไม่เกินร้อยละ 100 ของภาระค้ำประกันที่ออกให้แก่ SMEs แต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายจากเงินค่าธรรมเนียมหรือจากเงินสมทบจากรัฐบาล ทั้งนี้ เมื่อการจ่ายจากเงินสมทบจากรัฐบาลเต็มจำนวนร้อยละ 15 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันแต่ละ Package แล้ว บสย. จะรับผิดชอบจ่ายค่าประกันชดเชยไม่เกินร้อยละ 50 ของภาระค้ำประกันที่ออกให้แก่ SMEs แต่ละราย ทั้งนี้ ไม่เกินค่าธรรมเนียมที่ได้รับบวกเงินสมทบร้อยละ 17 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน

การสนับสนุนจากรัฐบาล

บสย. ขอรับเงินสมทบการจ่ายค่าประกันชดเชยและค่าธรรมเนียมค้ำประกันรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,360 ล้านบาท ดังนี้

1. เงินสมทบการจ่ายค่าประกันชดเชยจากรัฐบาลอัตราร้อยละ 15 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน จำนวน 1,200 ล้านบาท (ร้อยละ 15x8,000) โดยแบ่งจ่ายเป็นรายปี ใน 5 ปีแรก โดยปีที่ 1-2 ในอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และปีที่ 3-5 ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี

2. ค่าธรรมเนียมค้ำประกันอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน เป็นเงินจำนวน 160 ล้านบาท (ร้อยละ 2 X 8,000 ล้านบาท)

งบประมาณ บสย.

จำนวน 160 ล้านบาท (ร้อยละ 2 X 8,000 ล้านบาท)

ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ

1. ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริม ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 4,000 ราย (เฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อราย)

2. ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 8,000 ล้านบาท (1 เท่า)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ