1. อนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 ดังนี้
1.1 การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (การปรับปรุงแผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 ที่มีวงเงินปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 23,018.81 ล้านบาท จากเดิม 1,828,119.18 ล้านบาท เป็น 1,851,137.99ล้านบาท
1.2 การบรรจุโครงการพัฒนาหรือโครงการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1
1.3 ให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR)
ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิมภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าว รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย
2. อนุมัติและรับทราบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
2.1 อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินโครงการลงทุนและการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 1 และให้ กค. เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ
2.2 อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามผูกพันการกู้เงินและหรือการค้ำประกันเงินกู้ต่างประเทศจากแหล่งเงินกู้ทางการ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
2.3 อนุมัติให้ กค. ให้กู้ต่อแก่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวนไม่เกิน 15,025.52 ล้านบาทโดยเป็นวงเงินกู้ต่อเดิมของ รฟม. เพื่อรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ รวมทั้ง เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาเงินยืม จำนวนไม่เกิน 4,122.28 ล้านบาท และเรียกเก็บเงินยืมที่ไม่มีดอกเบี้ยกับกทม.
2.4 รับทราบแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้และการชำระคืนเงินกู้ที่ กค. ให้กู้ต่อแก่ กทม. และแนวทางการชำระคืนเงินตามสัญญาเงินยืมระหว่าง กค. กับ กทม.
1. คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 โดยมีวงเงินปรับเพิ่มสุทธิ 23,018.81 ล้านบาท จากเดิม 1,828,119.18 ล้านบาท เป็น 1,851,137.99 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
รายการ/ วงเงินปี 2562 / วงเงินปรับปรุง
ครั้งที่ 1 การเปลี่ยนแปลง
1. รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
1.1 แผนการก่อหนี้ใหม่ / 743,901.31 / 806,719.77 / 62,818.46
1.2 แผนการบริหารหนี้เดิม / 919,100.67 / 877,140.67 / -41,690.00
รวม 1,663,001.98 / 1,684,130.44 / 21,128.46
2. รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรีภายใต้กรอบแผนฯ
2.1 แผนการก่อหนี้ใหม่ / 79,763.25 / 80,963.25 / 1,200.00
2.2 แผนการบริหารหนี้เดิม 85,353.95 / 86,044.30 / 690.35
รวม 165,117.20 / 167,007.55 / 1,890.35
รวม 1 และ 2 1,828,119.18 / 1,851,137.99 / 23,018.81
2. จากการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 ส่งผลให้หนี้สาธารณะรวม ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับเพิ่มขึ้นจำนวน 23,018.81 ล้านบาท โดยการก่อหนี้ใหม่มีปัจจัยหลักมาจากการกู้เพื่อลงทุนในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 32,774.62 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว รวมทั้ง ในครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการพัฒนาและโครงการที่แต่เดิมไม่ได้บรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยจะขอบรรจุเพิ่มเติมและเสนอขออนุมัติมาในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้นจำนวน 6 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 28,291.45 ล้านบาท เช่น โครงการเงินกู้เพื่อรองรับการดำเนินงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) รวมถึงให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ SMEs รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลอื่น ๆ (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) จำนวน 21,000 ล้านบาท โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) จำนวน 2,700 ล้านบาท โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) จำนวน 1,891.45 ล้านบาทเป็นต้น ในขณะที่การบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจปรับลดลง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ชำระคืนหนี้เงินกู้จากเงินงบประมาณ จำนวน 13,730.24 ล้านบาท แล้ว ประกอบกับยังไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากในปีงบประมาณ 2561 ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ วงเงิน 25,000.00 ล้านบาท ไปแล้ว ซึ่งสัญญาจะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2563 ทั้งนี้ ประมาณการหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2562 (ปรับปรุงครั้งที่ 1) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิมอยู่ในระดับ ร้อยละ 42.70 (ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43.32 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549 และอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามนัยมาตรา 50 ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินและการคลังของรัฐกำหนดที่ระดับ ร้อยละ 60
3. สำหรับการโอนทรัพย์สินและหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยให้กรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวงเงิน19,147.80 ล้านบาท ในครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอขออนุมัติให้กระทรวงการคลังให้กู้ต่อแก่กรุงเทพมานคร
สำหรับค่าโครงสร้างพื้นฐานของโครงการที่กรุงเทพมหานคร ได้รับโอนมา ในวงเงิน 15,025.52 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินกู้ต่อเดิมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่กระทรวงการคลังกู้มาแล้ว จึงได้บรรจุรายการดังกล่าวนี้ไว้ในการปรับปรุงแผนฯ ในครั้งนี้ โดยไม่มีการเพิ่มวงเงินกู้ รวมทั้งขออนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาเงินยืม จำนวนไม่เกิน 4,122.28 ล้านบาท และเรียกเก็บเงินยืมที่ได้ไม่มีดอกเบี้ยกับกรุงเทพมหานคร สำหรับค่าจัดกรรมสิทธ์ที่ดินและภาระทางการเงินของโครงการที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระไปแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเห็นว่า สำหรับการชำระคืนเงินตามสัญญาเงินยืมสำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและภาระทางการเงินของโครงการที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระไปแล้ว เห็นควรให้กรุงเทพมหานครทยอยชำระคืนเงินยืมเมื่อได้ชำระคืนเงินกู้ที่กระทรวงการคลังให้กู้ต่อแล้วเสร็จ โดยให้พิจารณาภาระทางการเงินของกรุงเทพมหานครประกอบด้วย
4. ในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 มีรัฐวิสาหกิจที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR)
ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (ต่ำกว่า 1) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (0.22) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (0.87) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (-0.09) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (-0.03) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้พิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องกู้เงิน แนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งแผนการบริหารหนี้ที่ชัดเจนตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นในประเด็นสำคัญบางประการ เช่น เห็นควรให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเร่งรัดการดำเนินการตามแผนแก้ไขปัญหาองค์กรให้ชัดเจนและสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เห็นควรให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยกระจายภาระหนี้ให้สอดคล้องกับการจัดหารายได้ของหน่วยงานและความสามารถในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ในแต่ละปีเป็นต้น ในครั้งนี้ คณะกรรมการฯ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ข้างต้น สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิม ภายใต้การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 และให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย รวมทั้งเห็นควรให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง พิจารณาหาแนวทางในการเพิ่มรายได้และลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือลดผลขาดทุนจากการดำเนินงานให้น้อยลง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562--