คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง การโอนใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ให้แก่มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้
1. เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 (เรื่อง โรงเรียนนอกกฎหมายของ ดร.คิงส์ จังหวัดเชียงใหม่) จากเดิม ที่อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ เป็น ให้กระทรวงการต่างประเทศมีอำนาจในการโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบคุณสมบัติของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 21 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการโอนใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย
2. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ในการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ กต. ได้ทำความตกลงกับมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย โดยกำหนดให้ กต. ตั้งโรงเรียนโดยใช้ที่ดินและอาคารของมูลนิธิฯ และให้มูลนิธิฯ เป็นผู้บริหารกิจการโรงเรียน ตลอดจนรับและเก็บผลประโยชน์และรายได้ทั้งหมดของโรงเรียน นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ได้ให้สิทธิพิเศษแก่บุตรของข้าราชการ กต. และหน่วยราชการอื่น ๆ ในการนำบุตรเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ โดยชำระค่าธรรมเนียมการเรียนในอัตราต่ำกว่าอัตราปกติ
2. ในการบริหารจัดการโรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ กต. ได้วางข้อบังคับของโรงเรียนฯ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ควบคุมและจัดการโรงเรียนฯ โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีข้าราชการระดับสูงของ กต. และผู้แทนจากมูลนิธิฯ เข้าร่วมด้วย
3. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 กต. และมูลนิธิฯ ได้หารือเกี่ยวกับการโอนใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนฯ ให้แก่มูลนิธิฯ เพื่อให้การบริหารโรงเรียนฯ เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป การขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชนนานาชาติสามารถกระทำได้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยไม่ต้องมีส่วนราชการเป็นผู้ขออนุญาต ประกอบกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติภาระหน้าที่ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตไว้หลายประการ เช่น การดูแลสถานที่ การจัดทำบัญชี การแต่งตั้งผู้จัดการโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับภารกิจของ กต. รวมทั้งบัญญัติให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลและบังคับให้ผู้รับใบอนุญาตต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ตั้ง ทรัพย์สิน และทุนให้กับโรงเรียนฯ ซึ่ง กต. ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน จึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ต่าง ๆ ข้างต้นได้
กต. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562--