1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างปฏิญญา 3R กรุงเทพ ว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากขยะพลาสติกโดยใช้หลักการ 3R และเศรษฐกิจหมุนเวียน
2. เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษเสนอร่างปฏิญญา 3R กรุงเทพ ว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากขยะพลาสติกโดยใช้หลักการ 3R และเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้าน 3R ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร
3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในปฏิญญา 3R กรุงเทพ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ร่างปฏิญญา 3R กรุงเทพ (Final agreed Text) ได้ปรับแก้ไขให้เหมาะสมตามความเห็นของ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น และศูนย์พัฒนาภูมิภาคแห่งสหประชาชาติ ได้เห็นชอบร่วมกันแล้ว มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ร่างปฏิญญา 3 R กรุงเทพ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ด้านนโยบายร่วมกันของผู้แทนประเทศ ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการนำหลักการ 3R และเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อลดมลพิษจากขยะพลาสติก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน 3R ในประเทศไทย รวมทั้งเป็นการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนา ปรับปรุงระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยในประเทศให้ครบวงจร ทันสมัย และเป็นไปตามหลักสากล ทั้งนี้ปฏิญญา 3R กรุงเทพ เป็นปฏิญญาแบบสมัครใจและไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
2. ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมชายฝั่งและทะเลในฐานะที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเกาะขนาดเล็ก รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของหลักการ 3R และเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ซึ่งภาคเอกชนธุรกิจและอุตสาหกรรมจะมีบทบาทที่สำคัญของการมีส่วนร่วมในการบูรณาการการดำเนินการหลักการ 3R ของธุรกิจของตน เช่น การมีความรับผิดชอบต่อสังคม และความรับผิดชอบของผู้ผลิต เป็นต้น เพื่อนำไปสู่ความ ท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
3. ยืนยันถึงความตั้งใจของแต่ละประเทศ ที่จะดำเนินการตามกรอบโปรแกรม 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 (รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) รวมถึงเป้าหมายที่สำคัญทั้งหมด ซึ่งต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ครบวงจรตามกรอบสากลที่ตกลงกัน ในการลดการปล่อยของเสียสู่อากาศ น้ำ และดิน เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการการป้องกัน การลด การรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
4. บันทึกถึงความท้าทายของพลาสติกและมลพิษจากขยะพลาสติกที่เป็นประเด็นสำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกในทะเล กระแสน้ำ และมหาสมุทร ที่มีการพัดพาไหลข้ามประเทศ ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกประเทศ และเน้นย้ำถึงมลพิษจากขยะพลาสติกที่กลายเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่ไม่ได้ย่อยสลายอย่างแท้จริง แต่แตกตัวออกเป็นอนุภาคขนาดเล็กจำนวนมากและยังคงอยู่เป็นร้อย ๆ ปี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง
5. ร่วมกันพัฒนานโยบาย 3R ที่มีประสิทธิภาพ โปรแกรมต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับของการรีไซเคิลพลาสติกในระบบเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มโอกาสในการนำกลับมาใช้ซ้ำและการป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมชายฝั่งและทะเล สนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ และใช้นวัตกรรมสำหรับรูปแบบธุรกิจใหม่และยั่งยืน ซึ่งจะส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนห่วงโซอุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทางเลือกในการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ใช้และซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562--