เรื่อง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ขอเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ท้องที่จังหวัดสระบุรี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 (ท้องที่ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี) เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวน 15 แปลง ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ [พื้นที่ประทานบัตร 15 แปลง รวมเนื้อที่ 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา โดยอยู่ในเขตกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคตะวันตก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก ชั้นที่ 1 เอ รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา)] เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 และวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอขอผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 จำนวน 15 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ในท้องที่ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา (พื้นที่ประทานบัตร 15 แปลง มีเนื้อที่รวม 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา) เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เนื่องจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2554 แต่อายุประทานบัตรเหมืองแร่ยังคงเหลืออยู่ถึงวันที่ 27 เมษายน 2579 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 และวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ที่กำหนดให้เสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีได้พิจารณาข้อมูลแหล่งแร่ในพื้นที่ดังกล่าวแล้วพบว่า บริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพและปริมาณสำรองที่สามารถทำเหมืองได้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นว่า ในช่วงการอนุญาตที่ผ่านมาผู้รับอนุญาตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตถูกต้องครบถ้วนและได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่ (Post Evaluation) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว (และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้บริษัทฯ เฝ้าระวังด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน และคนงาน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่อย่างเคร่งครัดด้วย) ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเห็นให้บริษัทฯ ได้รับการพิจารณาผ่อนผันให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เป็นการเฉพาะรายต่อไปได้จนสิ้นอายุประทานบัตร (วันที่ 27 เมษายน 2579)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มีนาคม 2562--