1. เห็นชอบเอกสารนำเสนอโนราขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO)
2. เห็นชอบให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นผู้ลงนามในเอกสารฯ ในฐานะตัวแทนของประเทศไทยเพื่อเสนอขึ้นบัญชีฯ
1. ในปี 2560 ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอเอกสารนำเสนอโขนและนวดไทยขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) และโขนได้รับการประกาศให้ขึ้นบัญชีฯ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นรายการแรกของประเทศไทย สำหรับนวดไทยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อขึ้นบัญชีฯ ภายในปี พ.ศ. 2562
2. ในครั้งนี้กระทรวงวัฒนธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารนำเสนอโนราขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อ UNESCO (สำหรับขึ้นบัญชีฯ ในปี พ.ศ. 2563) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 และคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ให้นำเสนอเอกสารฯ ต่อ UNESCO แล้ว ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำตามแบบฟอร์มที่ UNESCO (แบบ ICH - 02) กำหนดเพื่อส่งให้เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติเพื่อดำเนินการนำเสนอเอกสารดังกล่าวต่อ UNESCO ต่อไป โดยเอกสารดังกล่าวมีสาระสำคัญครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เช่น
1) ชื่อการนำเสนอ คือ โนรา (Nora, Dance Drama in Southern Thailand)
2) ชื่อชุมชน/คณะ/กลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยประเทศไทยมีสายตระกูลหลักที่สืบทอดโนราอยู่ในพื้นที่ภาคใต้รวม 5 สาย ได้แก่
(1) สายโนราพุ่มเทวา
(2) สายโนราแปลก ท่าแค
(3) สายโนราแป้น เครื่องงาม
(4) สายโนราเติม – วิน – วาด และ
(5) สายโนรายก ทะเลน้อย
3) พื้นที่และขอบเขตอาณาบริเวณของเรื่องที่นำเสนอ ประเทศไทยมีคณะโนราอาชีพกระจายเป็นส่วนใหญ่ รวม 278 คณะ อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดบริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ จังหวัดพัทลุง จังหวัดตรัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา และ 4) หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการเสนอรายการตัวแทน มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อ UNESCO จำนวน 5 หลักเกณฑ์ เช่น
หลักเกณฑ์การพิจารณา
เกณฑ์ R 1. ประเทศผู้เสนอพึงกำหนดว่า “เรื่องที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม”
สรุปรายละเอียดที่ วธ. ระบุในแบบฟอร์ม
โนราสอดคล้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมใน 4 ลักษณะ คือ ธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะศิลปะการแสดง การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล และงานช่างฝีมือดั้งเดิม
หลักเกณฑ์การพิจารณา
เกณฑ์ R 2. ประเทศผู้เสนอพึงแสดงให้เห็นว่า “การขึ้นบัญชีเรื่องที่เสนอนี้จะเป็นคุณประโยชน์ในการช่วยย้ำให้เป็นที่ประจักษ์และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์”
สรุปรายละเอียดที่ วธ. ระบุในแบบฟอร์ม
การดำเนินการเรื่องนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้คนในภูมิภาคได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันมากขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมแจ้งว่า การดำเนินการในเรื่องนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและพัฒนาการส่งเสริมรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของประเทศไทยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตระหนักและเห็นคุณค่าถึงชนกลุ่มน้อยและชุมชนระดับนานาชาติ ทั้งนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้อง ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ
3. กระทรวงวัฒนธรรมแจ้งว่า การยื่นเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อ UNESCO นั้น รัฐภาคีจะต้องดำเนินการยื่นต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลภายในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อพิจารณาในการประชุมสมัชชาสมัยสามัญของ UNESCO ซึ่งเป็นไปตามเอกสารแนวปฏิบัติการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ข้อ 1.15 ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2562 ได้มีกำหนดจัดการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 9-14 ธันวาคม 2562 ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลัมเบีย ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรมจึงต้องเร่งดำเนินการจัดส่งเอกสารนำเสนอโนราเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อ UNESCO เพื่อให้ทันต่อกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ประกอบกับการนำเสนอโนราดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคี รวมทั้งการยื่นเสนอโนราเป็นการดำเนินการในนามของประเทศไทย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มีนาคม 2562--