เรื่อง ขออนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IICBTA) ในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย – เมียนมา และร่างบทเพิ่มเติม (Addendum)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IICBTA) ในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย – เมียนมา และร่างบทเพิ่มเติม (Addendum) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้งนี้ หากก่อนการลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจและร่างบทเพิ่มเติมดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยให้กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย
1. ร่างบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IICBTA) ในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย – เมียนมา วัตถุประสงค์ของร่างบันทึกความเข้าใจฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดนระหว่างไทย – เมียนมา โดยใช้เส้นทางเดินรถสำหรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ณ ด่านพรมแดนแม่สอด – เมียวดี และตลอดแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) (เมาะลำไย – เมียวดี – แม่สอด – พิษณุโลก – ขอนแก่น – กาฬสินธุ์ – มุกดาหาร) และใช้ใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) และเอกสารนำเข้าชั่วคราว (Temporary Admission Document: TAD) สำหรับการนำเข้ารถยนต์ชั่วคราว ฝ่ายละ 100 ฉบับ ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนไป – มา ระหว่างยานพาหนะได้ (ใบอนุญาต 1 ฉบับ ต่อ 1 คัน) โดยทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการตามมาตรการในการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการข้ามแดนทั้งในด้านพิธีการศุลกากร การเข้าเมือง และการกักกัน รวมถึงพิธีการข้ามพรมแดนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองบุคคล สัตว์ พืช สุขอนามัย ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 30 วัน หลังจากวันที่ภาคีในบันทึกความเข้าใจทั้งสองฝ่ายลงนาม
2. ร่างบทเพิ่มเติม (Addendum) มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ ตามข้อ 1 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ให้บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้สำหรับจุดผ่านแดนแม่สอด – เมียวดี รวมถึงสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 1 และสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 (บริเวณเมียวดี – บ้านวังตะเคียนใต้)
(2) การดำเนินการขนส่งภายใต้ข้อตกลงอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบันจะต้องนำมารวมภายใต้บันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงระหว่างไทย – เมียนมา ภายในระยะเวลา 18 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่าภาคีทั้งสองฝ่ายจะต้องออกใบอนุญาตขนส่งถึง 500 ฉบับ หรือจำนวนอื่นที่เห็นชอบร่วมกัน
(3) อนุญาตให้มีการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดน ณ จุดผ่านแดนแม่สอด – เมียวดี และตามเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก รวมถึงการขยายเส้นทางไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาในเมียนมา เมืองย่างกุ้ง กรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังในไทย (ผ่านเส้นทาง Kawkarek – Kyondoe – Za Tha Pyin – Thaton และ/หรือ Kawkarek – Kyondoe – Hpa An – Thaton) และเส้นทางที่ได้รับอนุญาต อื่น ๆ ที่อาจจะเพิ่มในภายหลัง ทั้งนี้ บทเพิ่มเติมฯ จะมีผลบังคับใช้ใน 30 วัน ภายหลังการลงนาม
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มีนาคม 2562--