คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน (Quick Win) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยค่าใช้จ่ายของโครงการที่จะต้องดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้ดำเนินการตามมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 (ซึ่งเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณในกรณีต่าง ๆ ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น) ส่วนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีต่อ ๆ ต่อไป ให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน (Quick Win) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 ซึ่งมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นประธาน ให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการขอรับจัดสรรงบประมาณและจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการดังกล่าวรวมทั้งพิจารณาแนวทางการจัดให้มีการบริการให้คำปรึกษาทางคดีผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา กระทรวงยุติธรรมจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
รายการ / รายละเอียด
เพื่อให้ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไปเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
มีผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไปที่มาขอรับคำปรึกษาด้านกฎหมาย 250,000 คน
1) จัดอบรมชี้แจงผู้ปฏิบัติงานทนายความอาสาและพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ
2) จัดทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ 150 สถานี ในช่วงเดือนเมษายน -กันยายน 2562 (สถานีตำรวจที่มีคดีสูงเกินกว่า 1,000 คดี จำนวน 125 สถานี และสถานีตำรวจประจำจังหวัดที่มีคดีสูงที่สุด 25 สถานี) ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการมี 2 กลุ่มคือ สถานีที่เปิดเวลา 08.30 - 16.30 น. และสถานีที่เปิด เวลา 08.30 - 23:30 น.
3) จัดทนายความอาสาตอบปัญหากฎหมายทางเว็บไซต์ที่ทำการสภาทนายความ
ประชาชนมีทางเลือกในการขอรับคำปรึกษาได้มากขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในเบื้องต้นได้โดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นศาล ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และประหยัดงบประมาณของภาครัฐ โดยประมาณการว่าจะมีประชาชนขอรับคำปรึกษาทางกฎหมาย จำนวน 250,000 ราย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการให้คำปรึกษา จำนวน 1,000 บาท/เรื่อง/คน คิดเป็นค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลงได้ประมาณ 250 ล้านบาท และคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐสามารถลดได้ในกระบวนการพิจารณาของศาล (ประมาณจากอัตราต่ำสุดในศาลชั้นต้น) ประมาณ 1,115 ล้านบาท (คิดจากปริมาณคดี 250,000 คดี มีค่าใช้จ่าย 4,600 บาท/คดี) ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการนี้ที่ต้องใช้งบประมาณดำเนินโครงการจำนวน 36.36 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มีนาคม 2562--