ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday March 26, 2019 17:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเสนอ

3. ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐรับความเห็นของฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม “ทุจริตในภาครัฐ” “ทุจริตต่อหน้าที่” “ประพฤติมิชอบ” “ไต่สวนข้อเท็จจริง”

2. กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลเกี่ยวกับการกระทำการทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสรุปสำนวนพร้อมทั้งความเห็นส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐกับบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน รวมทั้งผู้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ หรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และการดำเนินการในคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทำการใดอันจะทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว การเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนด

4. กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มอบหมาย มีอำนาจดำเนินการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจออกหมายจับและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนีในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง หรือไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลว่าผู้ใดกระทำความผิดและความผิดนั้นมีโทษทางอาญา

5. ปรับปรุงแก้ไข หมวด 2 การไต่สวนข้อเท็จจริง ดังนี้

5.1 กำหนดให้เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้รับมอบหมายเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็วตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. กำหนด และให้มีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติมอบหมายให้ไต่สวนข้อเท็จจริง

5.2 กำหนดให้ก่อนดำเนินการไต่สวน หากพบว่าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าผู้อำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่าขึ้นไปถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือกระทำผิดเป็นความผิดร้ายแรง ให้ส่งเรื่องคืนคณะกรรมการ ป.ป.ช. และหากพบว่าความผิดมิใช่การกระทำทุจริตในภาครัฐให้เป็นอันตกไป

5.3 กำหนดให้เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทำการทุจริตในภาครัฐและเป็นกรณีมีมูลความผิดทางวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาโทษทางวินัยโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย

5.4 กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ในการกำหนดโทษได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

6. เพิ่มเติมบทกำหนดโทษกรณีเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมิได้รับมอบหมาย กรณีขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. อนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง พนักงาน ป.ป.ท. หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ในการปฏิบัติหน้าที่และกรณีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฟ้องเท็จหรือเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเพื่อจะแกล้งบุคคลใดให้ถูกไต่สวนข้อเท็จจริง

7. กำหนดให้กรรมการ อนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง พนักงาน ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. มี ใช้ และพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. กำหนด

8. กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ท. มีอำนาจในการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุน โครงการ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินแผ่นดิน ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินโครงการใดมีการกำหนดวงเงินสูงเกินที่เป็นจริง หรือไม่คุ้มค่า ให้สำนักงานมีอำนาจในการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริง แล้วแจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มีนาคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ