คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของเครื่องพันธนาการที่ใช้แก่เด็กและเยาวชน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้นำข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
1. กำหนดประเภทของเครื่องพันธนาการที่ใช้แก่เด็กและเยาวชนให้ใช้ได้เฉพาะกุญแจมือ
2. กำหนดชนิดและขนาดกุญแจมือที่ใช้แก่เด็กและเยาวชน 3 แบบ ดังนี้
2.1 สายรัดข้อมือพลาสติกขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด แบบล็อคตัวเอง มีขนาดส่วนที่กว้างสุดบริเวณฐานล็อคข้อมือที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร ส่วนสายรัดกว้าง 0.7 เซนติเมตร ความยาวโดยรวมทั้งหมด 85 เซนติเมตร
2.2 ห่วงทำด้วยโลหะมีฟันเฟืองโลหะเพื่อใช้รัดข้อมือซ้ายและข้อมือขวาให้แน่น ระหว่างตัวห่วงโลหะทั้งสองข้างเชื่อมติดกันด้วยลูกโซ่โลหะที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 4.75 มิลลิเมตร ยาวไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 10 เซนติเมตร
2.3 ห่วงทำด้วยโลหะมีฟันเฟืองโลหะเพื่อใช้รัดข้อมือซ้ายและข้อมือขวาให้แน่น ระหว่างตัวห่วงโลหะทั้งสองข้างเชื่อมติดกันด้วยบานพับโลหะที่มีจุดยึดติดกับตัวห่วงโลหะอย่างน้อยข้างละสองจุด
3. กำหนดให้เมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการหลบหนี เมื่อนำตัวเยาวชนออกมานอกสถานที่ควบคุม หรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนเอง หรือบุคคลอื่น ในกรณีที่เกิดความไม่สงบในสถานที่ควบคุม ตามมาตรา 14 (1) หรือ (2) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดฯ ซึ่งต้องใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กและเยาวชนนั้น ให้เจ้าพนักงานพินิจแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานที่ควบคุมแห่งนั้นพิจารณา สั่งการให้ใช้เครื่องพันธนาการประเภทกุญแจมือแบบใดแบบหนึ่งตามข้อ 2. แก่เด็กและเยาวชนได้เท่าที่จำเป็นแก่ เหตุ และต้องบันทึกความจำเป็นและเหตุผลที่ต้องใช้เครื่องพันธนาการดังกล่าวไว้ด้วยทุกครั้ง
4. กำหนดให้การพิจารณาสั่งให้ใช้เครื่องพันธนาการตามข้อ 3. ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและลักษณะร่างกาย ความพิการ จิตใจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กหรือเยาวชน และความปลอดภัยในการควบคุมด้วย และเมื่อเหตุที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการได้สิ้นสุดลง ให้ผู้อำนวยการสถานที่ควบคุมดังกล่าวสั่งเพิกถอนการใช้เครื่องพันธนาการนั้นโดยทันที
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มีนาคม 2562--