คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน และให้ใช้แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนด้วย โดยคำนึงถึงข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งรับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนกลไกในการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทั้งระบบ เพื่อให้การบริหารจัดการเกี่ยวกับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการที่มีอยู่ในปัจจุบัน
1. โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียน และสนับสนุนการใช้น้ำนมดิบในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของรัฐบาล โดยการดำเนินการในปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมตามพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 และได้ยึดแนวทางการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ที่มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนมาโดยตลอด
2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาให้มีการทบทวนแนวทางการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทั้งระบบ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรายงานผลการพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว (คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561) รวมทั้งได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 801/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ลงวันที่ 6 กันยายน 2561 และได้มีการพิจารณาแนวทางปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในการนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนและให้ใช้แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนดังกล่าว ดังนี้
- ระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน(ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่15 ธันวาคม 2552)
- แนวทางปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน(ข้อเสนอในครั้งนี้)
1. คณะกรรมการกลาง
ให้มีองค์กรกลาง เป็นคณะอนุกรรมการในกำกับดูแลของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม มีผู้แทน 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาคราชการ ฝ่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปและผู้แทนฝ่ายจัดซื้อ รวม 19 คน โดยให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติโครงการฯ ในแต่ละภาคเรียนหรือปีการศึกษา พิจารณาจัดสรรปริมาณน้ำนมดิบ ปริมาณการจำหน่ายและพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ แยกโครงสร้างการบริหารออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน จำนวน 15 คน มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ มีหน่วยงานที่กำกับดูแล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการผลิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้รับบริการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ และมีอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและเลขานุการ (โดยไม่มีองค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการฯ ร่วมเป็นกรรมการ) มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และรณรงค์การบริโภคนมไปยังสถาบันการศึกษาทุกระดับ และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ได้แก่
(1) คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน)
(2) คณะอนุกรรมการรณรงค์บริโภคนมในสถาบันการศึกษาทุกระดับ (จัดทำโครงการรณรงค์บริโภคนมในสถาบันการศึกษาทุกระดับ) (3) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) (ดำเนินงานตามที่คณะอนุกรรมการทั้ง 2 ตาม (1) และ (2) ได้วางหลักเกณฑ์และวิธีการไว้) และ (4) คณะอนุกรรมการอื่น ๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ ให้กรรมการในคณะกรรมการอาหารเสริมนมเพื่อเด็กและเยาวชนและอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. สถานภาพขององค์การส่งเสริมกิจการโคมนมแห่งประเทศไทย
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยทำหน้าที่แทนองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยแยกระบบการบริหารเงิน และการดำเนินงานออกจากภารกิจที่ดำเนินการตามปกติขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และให้ดำเนินการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้
ให้องค์การส่งเสริมกิจการโคมนมแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นเพียงองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และมอบให้กรม
ปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำระบบฐานข้อมูล Big Data สำหรับโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน
3. งบประมาณ
ใช้วิธีการกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นหรือหน่วยจัดซื้อเพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ให้งบประมาณอาหารเสริม (นม) อยู่ที่ท้องถิ่นหรือหน่วยจัดซื้อเช่นเดิม แต่ขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารจัดการให้แก่คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน และคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนทุกคณะ เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 3 ของงบประมาณค่าอาหารเสริม (นม) ทั้งหมด โดยให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อนำเสนอขออนุมัติในแต่ละปี
4. วิธีการจัดซื้ออาหารเสริม (นม) โรงเรียน
วิธีกรณีพิเศษ
วิธีเฉพาะเจาะจง (วิธีกรณีพิเศษ เดิม) ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนและกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีคัดเลือกและวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2560 เนื่องจากเป็นโครงการที่ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และเด็กนักเรียน
5. คู่สัญญาซื้อขาย
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยจะเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกราย โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยสามารถมอบอำนาจให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ส่งมอบสินค้า และรับชำระเงินตลอดจนรับผิดชอบความเสียหายตามสัญญาที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยทำกับหน่วยจัดซื้อทั่วประเทศ
ให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกราย โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยสามารถมอบอำนาจให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจัดซื้ออาหารเสริม (นม) โรงเรียน แทนองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยและเป็นผู้ส่งมอบสินค้า รวมทั้งรับชำระเงิน ตลอดจนรับผิดชอบความเสียหายตามสัญญาที่ทำกับหน่วยจัดซื้อทั่วประเทศแทนองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ จะกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกราย ต้องจัดทำประกันประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance)
1. จัดสรรปริมาณน้ำนมดิบ ปริมาณการจำหน่าย และพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการ
คณะกรรมการกลาง
คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ภายใต้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน และให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) ทำหน้าที่จัดสรรสิทธิหรือโควตารวมทั้งพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
2. เกษตรกรผู้มีสิทธิ์จำหน่ายน้ำนมดิบ
ต้องจดทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกับ กรมปศุสัตว์ และมีคุณภาพน้ำนมดิบตามมาตรฐานที่กำหนด
จะต้องลงทะเบียนพร้อมกับศูนย์รวบรวมน้ำนมโค และผู้ประกอบการแปรรูปนมที่รับซื้อน้ำนมโคทั้งระบบผ่าน Application เพิ่มเติม ได้แก่ ระบบทะเบียนฟาร์ม ระบบซื้อขาย และระบบตรวจสอบย้อนกลับ
3. นมที่จัดส่งให้โรงเรียน
ต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมทั้งให้มีการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนเพื่อทำให้เด็กชอบดื่มนม
ให้เป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเพิ่มความเข้มงวดในขั้นตอนการส่งมอบและรับมอบนมโรงเรียนโดยในระดับพื้นที่ รวมทั้งจะจัดให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และจะพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (ยกเลิกนมถุง)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มีนาคม 2562--