คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) ประธานกรรมการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาเสนอ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างฝายราษีไศลและฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ โดยโครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ระยะที่ 1 วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 13,250,000 บาท และมอบหมายให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลและคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการต่อไป
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ให้กรมชลประทานพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จากโครงการ/รายการที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว และมีงบประมาณเหลือจ่าย และ/หรือรายการที่หมดความจำเป็น และ/หรือรายการที่คาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มาดำเนินการ โดยให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ในรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ควรมีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตลอดจนให้มีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลโครงการด้วย เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่า ตามความเห็นของ สงป.
โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างฝายราษีไศลและฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ โดยดำเนินโครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ระยะที่ 1 มีสาระสำคัญ ดังนี้
วัตถุประสงค์โครงการ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้พื้นที่ทำการเกษตรกรรมบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย และสนับสุนนองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ให้เกษตรกรสามารถดำเนินการทำเกษตรกรรมยั่งยืนแบบพึ่งพาตนเอง ทำให้ช่วยลดต้นทุนการทำเกษตรกรรม
พื้นที่ดำเนินการ (จังหวัด / อำเภอ / ตำบล)
1. พื้นที่ฝายราษีไศล จำนวน 3 จังหวัด
ศรีสะเกษ / ราษีไศล / เมืองคง หนองแค หนองอึ่ง บัวหุ่ง สร้างปี่ ส้มป่อย ด่านบึงบูรพ์ บึงบูรพ์
สุรินทร์ ท่าตูม /โพนครก / หนองบัว / รัตนบุรี /ทับใหญ่ ยางสว่าง ดอนแรด
ร้อยเอ็ด / โพนทราย / ยางคำ สามขา
2. พื้นที่ฝายหัวนา จำนวน 2 จังหวัด
ศรีสะเกษ / กันทรารมย์ / โนนสังข์
อุบลราชธานี / วารินชำราบ / ท่าลาด ห้วยขยุง
สำโรง / โนนกาเล็น
เป้าหมาย
พัฒนาพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน (ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์) ตามแนวทางของศาสตร์พระราชา (เกษตรทฤษฎีใหม่) จำนวน 500 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรได้เพิ่มขึ้น 838,000 ลูกบาศก์เมตร
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
กรมชลประทาน กษ.
วิธีดำเนินการ
(1) ให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแนวคิดและเทคนิคในการพัฒนาแปลงเกษตรกรตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ก่อนที่จะรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ
(2) รับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ และสำรวจตรวจสอบความเหมาะสมของแปลงเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ รวมถึงความพร้อมของเกษตรกรที่จะให้ดำเนินการขุดแหล่งกักเก็บน้ำ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเกษตรกรต้องสมัครใจเข้าร่วมโครงการเท่านั้น โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ ตัวแทนจากภาคประชาชนแจ้งว่า เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยและพร้อมที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการฯ
(3) พัฒนาปรับปรุงแปลงให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะก่อสร้างด้วยการขุดดินโดยใช้เครื่องจักรภายในพื้นที่ของเกษตรกร ตามรูปแบบเกษตรกรทฤษฎีใหม่ ประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่เกษตรกรต่อราย เพื่อให้ใช้เป็นแหล่งกัก เก็บน้ำ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(1) พัฒนาพื้นที่การเกษตรนอกเชตชลประทาน (ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์) ตามแนวทางศาสตร์พระราชาเกษตรทฤษฎีใหม่ จำนวน 500 ไร่
(2) สามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรได้เพิ่มขึ้น 838,000 ลูกบาศก์เมตร
(3) เป็นการสนับสนุนแหล่งน้ำที่ถือเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญให้แก่เกษตรกร เกษตรกรจึงสามารถทำการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรได้ตลอดปี พึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
(4) เป็นการสร้างความมั่นคงด้านรายได้แก่เกษตรกร และส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
(5) เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดอัตราการว่างงาน แรงงานคืนถิ่น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มีนาคม 2562--