1. อนุมัติในหลักการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี)
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สธ. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องพร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติทราบอย่างทั่วถึง และให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ร่วมกับสมาคมประกันที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดเตรียมช่องทางสำหรับซื้อประกันสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ให้มีความพร้อมรองรับ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ที่ผ่านมามีชาวต่างชาติจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและมีเหตุต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลในไทย ซึ่ง สธ. ได้รับรายงานข้อมูลจากสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาพยาบาลแต่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลจึงก่อให้เกิดปัญหาหนี้สูญแก่สถานพยาบาลโดยเฉพาะในสถานพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศ โดยสถานพยาบาลต้องให้การรักษาชาวต่างชาติทุกรายตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มประสิทธิภาพแม้ว่าจะไม่อาจจัดเก็บค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกลไกและมาตรการคุ้มครองชาวต่างชาติทางด้านสุขภาพรัฐบาลจึงจำเป็นต้องผลักดันนโยบายการทำประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศ ในระยะเริ่มแรกของนโยบาย สธ. พิจารณาแล้วเห็นควรดำเนินการนำร่องในกลุ่มคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) เนื่องจากผู้ขอรับการตรวจลงตราฯ กลุ่มดังกล่าว หมายถึง กลุ่มคนต่างด้าวทุกสัญชาติที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยมีอายุการตรวจลงตรา 1 ปี และขออยู่ต่อได้ปีต่อปี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโอกาสประสบปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทอื่น
2. สธ. แจ้งว่า ในระหว่างปี 2559 - 2561 มีข้อมูลสถิติของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ผู้ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) จำนวนการเข้ารับการรักษาพยาบาลของชาวต่างชาติ และจำนวนครั้งและค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สามารถจัดเก็บจากนักท่องเที่ยวได้ สรุปได้ ดังนี้
ปี / ชาวต่างชาติ (นักท่องเที่ยว/คนอยู่ชั่วคราว รหัส O-A) / ชาวต่างชาติเข้ารับการรักษาพยาบาล / ไม่สามารถจัดเก็บค่ารักษาพยาบาล / ค่ารักษาฯ ที่ไม่สามารถจัดเก็บได้
2559 / 32 ล้านราย / 71,228 ราย / 2.60 ล้านครั้ง / 667,000 ครั้ง / 380 ล้านบาท
2560 / 35 ล้านราย / 68,696 ราย / 3.30 ล้านครั้ง / 565,000 ครั้ง / 346 ล้านบาท
2561 / 38 ล้านราย / 80,950 ราย / 3.42 ล้านครั้ง / 680,000 ครั้ง / 305 ล้านบาท
3. สธ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 มีการประชุมหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กต. มท. ตช. สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งทุกหน่วยงานเห็นพ้องกันว่า ควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอรับการตรวจลงตราประเภทอยู่ชั่วคราวประเภทดังกล่าวให้มีประกันสุขภาพภาคบังคับภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบบางประการต่อชาวต่างชาติทีได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรก่อนวันที่นโยบายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ จึงมีความจำเป็นต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการ
4. คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ในการประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ซึ่งมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานกรรมการร่วม เห็นชอบในหลักการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) และมอบหมายให้ สธ. โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
5. คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้พิจารณาถึงแนวทางการกำหนดแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และอัตราเบี้ยประกันภัยเพื่อใช้กับกลุ่มผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทดังกล่าว โดยในเบื้องต้นให้ใช้วิธีการซื้อประกันสุขภาพแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.longstay.tgia.org เช่นเดียวกับผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเพื่อการพำนักระยะยาว (Long stay) Non-Immigrant Visa รหัส O-X (ระยะ 10 ปี) อย่างไรก็ตามทั้ง 2 สมาคม มีความเห็นว่า สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพเกินกว่าที่บริษัทประกันภัยจะรับทำประกันภัย สามารถมีสิทธิขอรับการตรวจลงตราได้และเห็นควรให้ ตม. กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม เช่น การกำหนดให้มีเงินฝากประจำเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุชาวต่างชาติมีทุนทรัพย์ในจำนวนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ การรักษาพยาบาล และเพื่อการอื่นที่เกี่ยวข้องในขณะพำนักในประเทศไทย
6. สธ. พิจารณาแล้วเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) ให้มีการประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักรโดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาลในกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท กรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท โดยซื้อกรมธรรม์แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.longstay.tgia.org สำหรับผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพของบริษัทต่างประเทศจะต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่าการทำประกันสุขภาพของไทยตามที่กำหนดด้วยเช่นกัน สำหรับวิธีการพิจารณา ตรวจสอบ หรือการอื่นที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดำเนินงาน สธ. กต. มท. ตม. สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันกำหนดให้มีความรอบคอบ รัดกุม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการปฏิบัติงานและการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 เมษายน 2562--