ขออนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (ระยะที่ 10) พ.ศ. 2562 – 2566

ข่าวการเมือง Tuesday April 9, 2019 16:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

1. อนุมัติในหลักการโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (ระยะที่ 10) พ.ศ. 2562-2566 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้

1.1 ให้คงจำนวนนักศึกษา ปีละ 44 ทุน ให้เข้าศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ จำนวน 27 ทุน สาขาวิชาสังคมศาสตร์ จำนวน 17 ทุน (อัตราส่วน 60 : 40) และในการรับนักศึกษาตามจำนวนดังกล่าว ให้พิจารณารับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 2 คน เพื่อเป็นการเยียวยาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากขอมากกว่า 44 ทุน อาจจะมีผลกระทบในการขออนุมัติด้านงบประมาณ

1.2 ให้คงจำนวนมหาวิทยาลัยที่จะรับนักศึกษาตามโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (โครงการจัดส่งนักศึกษาฯ) ไว้ จำนวน 9 แห่ง เช่นเดิม ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) 2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 4. มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) 5. มหาวิทยาลัยมหิดล 6. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) 7. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 8. มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ 9. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เนื่องจาก 9 มหาวิทยาลัยของรัฐดังกล่าวมีความพร้อมที่จะรับนักศึกษาตามโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ เข้าศึกษาต่อ หากจะมีการเพิ่มมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เข้าร่วมโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ ต้องมีการสอบถามความพร้อมในการที่จะรับนักศึกษาตามโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ และให้กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 (เรื่อง การจัดสรรทุนรัฐบาลให้แก่หน่วยงานของรัฐ) ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่มีความประสงค์จะขอรับการจัดสรรทุนการศึกษาจากรัฐบาลจัดส่งเรื่องพร้อมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้กับสำนักงาน ก.พ. พิจารณาก่อนดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ รวมทั้งรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

2. สำหรับการสงวนอัตราเข้ารับราชการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 [เรื่อง ขอขยายระยะเวลาดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ (พ.ศ. 2547 – 2551)] ให้กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) หารือร่วมกับหน่วยงานหลักตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการพิจารณากำหนดแนวทางการสงวนอัตราที่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการของหน่วยงานกับสาขาที่นักศึกษาเรียนจบเพื่อให้การจัดสรรกำลังคนกับความต้องการของหน่วยงานเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด

3. ให้กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) และกระทรวงแรงงาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

เรื่องนี้เดิมคณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องทั้งหมด 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 – 2561 โดยในการอนุมัติโครงการดังกล่าวได้มีการปรับเกณฑ์ในการคัดเลือกนักศึกษา เช่น หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนจำนวนทุนการศึกษาที่มอบให้ จำนวนเงินทุนการศึกษาที่มอบให้ในแต่ละสาขา การสงวนอัตราของแต่ละส่วนราชการเพื่อรองรับนักศึกษาเข้ารับราชการ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงที่เปลี่ยนแปลงไป และเนื่องจากโครงการฯ (ระยะที่ 9) พ.ศ. 2557 – 2561 ได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2561 กระทรวงมหาดไทยจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำการศึกษาประเมินผลโครงการฯ เพื่อประเมินประสิทธิผลและความจำเป็นใน การดำเนินโครงการดังกล่าวต่อในระยะที่ 10 ซึ่งผลการประเมินโดยสรุปพบว่า ทั้งนักศึกษาผู้รับทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเชิงบวกต่อประสิทธิผลของโครงการฯ ที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ครบถ้วนและ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความเห็นว่า จำเป็นต้องมีการดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอันจะส่งผลต่อการยกระดับมาตรฐานการดำเนินชีวิตและการศึกษาของประชาชนให้สูงขึ้น ตลอดจนเป็นการเพิ่มรายได้กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น โดยโครงการฯ จะประกอบด้วย กิจกรรมแบบเบ็ดเสร็จ 3 ประการ ได้แก่

กิจกรรม/รายละเอียด

การคัดเลือกนักศึกษา

กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาตามโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ เพื่อให้ได้นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของรัฐ รวม 9 แห่ง ปีละ 44 คน โดยจัดสรรจำนวนนักศึกษาออกเป็นรายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี 12 คน จังหวัดนราธิวาส 13 คน จังหวัดยะลา 8 คน จังหวัดสตูล 7 คน และจังหวัดสงขลา 4 คน

การจัดสรรเงินทุนอุดหนุนการศึกษา

กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) จะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อมอบเงินเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาตามโครงการฯ ปีละ 44 ทุน จำแนกเป็น

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ 27 ทุน ๆ ละ 40,000 บาท
  • สาขาวิชาสังคมศาสตร์ 17 ทุน ๆ ละ 30,000 บาท

ซึ่งจะต้องมีนักศึกษาที่เข้าศึกษาในวิชาชีพครูจำนวนร้อยละ 10 ของนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษาในแต่ละปี โดยมีพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และอำเภอจะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อยของจังหวัดสงขลา)

การสงวนอัตราเข้ารับราชการ

ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 ที่ให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สงวนอัตราเพื่อรองรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา กระทรวงละ 4 อัตรา สำหรับส่วนราชการอื่นให้สงวนอัตราไว้อย่างน้อยกระทรวงละ 1 อัตรา และให้สอบแข่งขันคัดเลือกกันเองในการเข้ารับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตามจากกิจกรรมข้างต้น พบว่า ผลการประเมินจากนักศึกษาผู้รับทุน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและ คณะผู้ดำเนินการประเมินผลโครงการฯ มีข้อเสนอแนะหลายประการที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ เช่น ควรมีการเพิ่มจำนวนเงินทุนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ควรพิจารณาการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ (ค่าครองชีพ ค่าอุปกรณ์การเรียน) การจ่ายเงินทุนควรดำเนินการเป็นรายภาคการศึกษา ควรมีการประกาศรายชื่อคณะ/มหาวิทยาลัยที่เปิดรับสมัครอย่างชัดเจน ควรมีการชี้แจงลำดับคะแนนในการสัมภาษณ์โดยละเอียดตามเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการรับสมัครให้แก่ผู้สมัครทราบล่วงหน้า ควรมีการติดตามผลการเรียนและความเป็นอยู่ของนักศึกษาควรดำเนินการอย่างใกล้ชิด เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษา ต่อมหาวิทยาลัย (ระยะที่ 10) พ.ศ. 2562 – 2566 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการฯ ดังนี้

1. ให้คงจำนวนนักศึกษา ปีละ 44 ทุน ให้เข้าศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ จำนวน 27 ทุน สาขาวิชาสังคมศาสตร์ จำนวน 17 ทุน (อัตราส่วน 60 : 40) และในการรับนักศึกษาตามจำนวนดังกล่าว ให้พิจารณารับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 2 คน เพื่อเป็นการเยียวยาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. ให้คงจำนวนมหาวิทยาลัยที่จะรับนักศึกษาตามโครงการฯ ไว้ จำนวน 9 แห่งเช่นเดิม

3. ให้สงวนอัตราเข้ารับราชการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 และควรมีการสงวนอัตราที่ชัดเจนและเพียงพอกับนักศึกษาทุนทุกคน เพื่อเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้การปฏิบัติการทางด้านจิตวิทยาบรรลุผลสำเร็จ

4. ให้มีการพิจารณาเพิ่มจำนวนเงินทุนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการจัดสรรเป็นเงินทุนอุดหนุนการศึกษาตามที่จ่ายตามจริงในแต่ละสาขาวิชา รวมทั้งให้มีการพิจารณาการสนับสุนค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ เช่น ค่าครองชีพ ค่าอุปกรณ์การเรียน ทั้งนี้ ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับเงินทุนอุดหนุนการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – 2566 เป็นเงิน 41,700,000 บาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 เมษายน 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ