คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำ เพื่อให้นายจ้างใช้เป็นเกณฑ์ในการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ดังนี้
1. กำหนดบทนิยาม “งานประดาน้ำ” “นักประดาน้ำ” “หัวหน้านักประดาน้ำ” “พี่เลี้ยงนักประดาน้ำ” และ “นักประดาน้ำพร้อมดำ” ฯลฯ
2. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับสำหรับงานประดาน้ำที่ทำในน้ำลึกตั้งแต่ 10 ฟุต แต่ไม่เกิน 300 ฟุต
3. กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่แจ้งให้พนักงานตรวจความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีการทำงานทราบ
4. กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างตรวจสุขภาพตามกำหนด
5. กำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของลูกจ้างที่ปฏิบัติงานประดาน้ำในตำแหน่งต่าง ๆ
6. กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงาน การพัก และจัดให้มีลูกจ้างที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพทย์ พยาบาลใต้น้ำ การบริการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
7. กำหนดให้ลูกจ้างอาจปฏิเสธการทำงานหรือนายจ้างอาจสั่งให้หยุดการปฏิบัติงานใต้น้ำในกรณีที่อาจก่อให้เกิดอันตราย
8. กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ในการจัดหาอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการบำรุงรักษาอุปกรณ์ดังกล่าว
9. กำหนดบทเฉพาะกาลให้นำผลการตรวจสุขภาพและจัดทำบัตรตรวจสุขภาพของลูกจ้างตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำ พ.ศ. 2548 มาใช้บังคับได้ต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 เมษายน 2562--