แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 -2580 (PDP2018) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 -2580

ข่าวการเมือง Tuesday April 30, 2019 18:12 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 -2580 (PDP2018) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 -2580 (Power Development Plan: PDP2018) ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. เรื่องนี้เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (12 มีนาคม 2562) รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 (ครั้งที่ 16) ซึ่งรวมถึงการเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 (PDP2018) ด้วย โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเสนอแผน PDP2018 ให้สำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณากลั่นกรอง เพื่อให้เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 (เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี) และนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามนัยมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งกระทรวงพลังงานแจ้งว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบแผน PDP2018 แล้ว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562

2. แผน PDP2018 มีสาระสำคัญเป็นแผนหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมถึงประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2580 จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ (ปัจจุบันผลิตได้ 46,090 เมกะวัตต์) ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว จะต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 56,431 เมกะวัตต์ และปลดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุในช่วงปี 2561 - 2580 จำนวน 25,310 เมกะวัตต์ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาระบบผลิตและส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้สามารถรองรับการซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นและเกิดความมั่นคงทางพลังงานในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน รวมทั้งพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล ควบคุม และบริหารจัดการการผลิตและจ่ายไฟฟ้าโดยอัตโนมัติเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้าและใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา

อนึ่ง แผน PDP2018 สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (7) ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนย่อยโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ซึ่งกำหนดให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้มีความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 เมษายน 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ