ร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับมาตรการตอบโต้การอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ รวม 2 ฉบับ

ข่าวการเมือง Tuesday May 28, 2019 18:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการให้การอุดหนุนแก่การส่งออก พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับจากการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับดังกล่าว เป็นการเตรียมการเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายมีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการให้การอุดหนุนแก่การส่งออก พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้

ประเด็น/รายละเอียด

1. บทนิยาม

กำหนดบทนิยามคำว่า “ภาษีทางตรง” “ค่าธรรมเนียมในการนำเข้า” “ภาษีทางอ้อม” “ภาษีทางอ้อมระหว่างการผลิต” “ภาษีทางอ้อมสะสม” “การลดหย่อนภาษี” และ “การลดหย่อนหรือการคืนค่าธรรมเนียมในการนำเข้า”

2. ลักษณะของการอุดหนุนการส่งออก กำหนดลักษณะของการอุดหนุนการส่งออก ได้แก่

(1) การให้การอุดหนุนแก่การส่งออกโดยตรงต่อวิสาหกิจ

(2) มาตรการถือครองเงินตราต่างประเทศ หรือการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์พิเศษที่เกี่ยวกับการส่งออก

(3) การให้หรือกำหนดเงื่อนไขการให้ค่าขนส่งและค่าระวางภายในประเทศเพื่อการส่งออกที่ดีกว่าการให้หรือการกำหนดเงื่อนไขการให้ค่าขนส่งและค่าระวางเพื่อการจำหน่ายในประเทศ

(4) การให้สินค้าหรือบริการทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งมีเงื่อนไขที่ดีกว่าการให้สำหรับการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ

(5) การลดหย่อนหรือการชะลอการชำระภาษีทางตรง หรือค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม ทั้งหมดหรือบางส่วนที่เฉพาะเจาะจงกับการส่งออก

(6) การให้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ เป็นพิเศษ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งออก หรือความสามารถในการส่งออก ในการคำนวณภาษีทางตรงที่มากกว่า หรือนอกเหนือจากที่ให้แก่การผลิตสินค้าเพื่อบริโภคภายในประเทศ ฯลฯ

2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับจากการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้

ประเด็น/รายละเอียด

1. หลักเกณฑ์การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินประเภทต่าง ๆ ของรัฐบาลประเทศแหล่งกำเนิดหรือประเทศผู้ส่งออก

กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินประเภทต่าง ๆ ของรัฐบาลประเทศแหล่งกำเนิดหรือประเทศผู้ส่งออก ได้แก่

(1) กรณีรัฐบาลตัดสินใจร่วมลงทุนในลักษณะไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติตามปกติของการร่วมลงทุนของภาคเอกชนในประเทศแหล่งกำเนิด หรือประเทศผู้ส่งออกโดยให้มีการซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ให้คำนวณส่วนต่างระหว่างมูลค่าหุ้นที่รัฐบาลร่วมลงทุนกับมูลค่าหุ้นในตลาดของกิจการนั้น

(2) กรณีรัฐบาลให้เงินกู้โดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราการกู้ยืมทางพาณิชย์ ให้คำนวณส่วนต่างระหว่างมูลค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตามอัตราในการกู้ยืมทางพาณิชย์กับมูลค่าดอกเบี้ยที่ผู้รับการอุดหนุนจ่ายให้รัฐบาล โดยการกู้ยืมทางพาณิชย์ที่นำมาเปรียบเทียบนั้น ต้องเป็นการกู้ยืมที่มีมูลค่าและระยะเวลาการผ่อนชำระที่ใกล้เคียงกันจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศนั้น

(3) กรณีรัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ทำให้เกิดประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น ซึ่งรวมถึงการค้ำประกันเงินกู้ยืม การค้ำประกันสินเชื่อการซื้อขาย การค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออก ให้คำนวณส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินที่ผู้ได้รับการค้ำประกันต้องชำระกับกรณีการค้ำประกันเงินกู้ทางพาณิชย์

(4) กรณีรัฐบาลให้สินค้าหรือบริการแก่ผู้รับการอุดหนุนโดยได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าอัตราที่สมควรตามสภาพทางการตลาดที่เป็นอยู่ในประเทศ ให้คำนวณส่วนต่างระหว่างอัตราค่าตอบแทนที่ต่ำที่สุดของสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกันที่จ่ายจากการซื้อจากเอกชนกับอัตราค่าตอบแทนที่ผู้รับการอุดหนุนจ่ายค่าสินค้าหรือบริการให้รัฐบาล ฯลฯ

2. หลักเกณฑ์ในการพิจารณาประโยชน์ที่ได้รับจากการอุดหนุน กำหนดการพิจารณาประโยชน์ที่ได้รับจากการอุดหนุนให้คำนึงถึงมูลค่าประโยชน์ที่ได้รับจริงโดยรวมดอกเบี้ยเชิงพาณิชย์ และระยะเวลาที่การอุดหนุนก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนี้

(1) กรณีเป็นการอุดหนุนที่ทำให้เกิดประโยชน์และสิ้นสุดในช่วงระยะเวลาการไต่สวน ให้พิจารณาประโยชน์ที่ได้รับเฉพาะในช่วงเวลาที่ได้รับการอุดหนุนนั้น

(2) กรณีเป็นการอุดหนุนที่ทำให้เกิดประโยชน์ที่มีผลต่อเนื่อง ให้พิจารณาประโยชน์ที่ได้รับโดยใช้หลักการปันส่วนตามประโยชน์ที่ได้รับเฉพาะในช่วงระยะเวลาการไต่สวน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤษภาคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ