เรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการสรรหาเอกชน เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ระยะเวลาสัมปทาน 20 ปี ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 และการรถไฟแห่งประเทศไทยเสนอ
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รายงานผลการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. สัญญาสัมปทานที่ผ่านมา
1.1 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการสรรหาผู้ประกอบการฯ เพื่อรับสัมปทาน เป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ครั้งแรกเมื่อปี 2539 (ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โดยวิธีการประมูลอัตราค่าธรรมเนียมสัมปทาน โดยมีผู้ประกอบการฯ จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย
(1) สถานี A บริษัท สยามชอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด
(2) สถานี B บริษัท อิสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด
(3) สถานี C บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด
(4) สถานี D บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด
(5) สถานี E บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด
(6) สถานี F บริษัท เอ็น.วาย.เค.ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด
โดยสัญญาสัมปทานฯ ในช่วง 10 ปีแรก เริ่มตั้งแต่ปี 2539 และสิ้นสุดไป เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2549
1.2 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำสัญญาสัมปทานการดำเนินงานสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบังกับผู้ประกอบการ ไอซีดี ทั้ง 6 สถานี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 ออกไปอีก 5 ปี โดยสัญญามีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2549 และสิ้นสุดสัญญา 5 มีนาคม 2554
2. การแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก
2.1 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งเฉพาะที่ 651/2556 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2556 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อดำเนินการสรรหาเอกชนเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง โดยมีองค์ประกอบตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
2.2 ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคัดเลือกได้มีเอกชนไปฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาให้ความคุ้มครองชั่วคราว ในการนี้ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560 ได้มีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้ตรวจสอบประเด็นตาม คำฟ้องคดีของศาลปกครองแล้วพบว่า มีเหตุการณ์ตามที่ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างเกิดขึ้นตามกระบวนการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนฯ ซึ่งไม่อาจแก้ไขหรือเยียวยาให้กระบวนการดำเนินการที่ผ่านมาได้
2.3 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจถึงแนวทางการดำเนินโครงการฯ ต่อไป สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้ตอบข้อหารือของการรถไฟแห่งประเทศไทยสรุปได้ว่า กรณีคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ยกเลิกประกาศเชิญชวน และการรถไฟแห่งประเทศไทยในฐานะเจ้าของโครงการยังมีความประสงค์ดำเนินโครงการตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ต่อไปให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนในหมวด 5 โดยเริ่มจากจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างขอบเขตของโครงการและร่างสัญญาร่วมลงทุน ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
2.4 การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วเห็นควรดำเนินโครงการตามร่างประกาศเชิญชวนและขอบเขตโครงการเดิม จึงมีคำสั่งเฉพาะที่ ก.74/2561 ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อดำเนินการสรรหาเอกชนเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง
3. การเชิญชวนและการพิจารณาคุณสมบัติ
3.1 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเชิญชวนผู้ยื่นข้อเสนอ “ร่วมลงทุน” โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 โดยมีกำหนดการ ดังนี้
(1) จำหน่ายเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุน: วันที่ 3 กันยายน – 1 พฤศจิกายน 2561
(2) ประชุมชี้แจงและตอบคำถาม: วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561
(3) ยื่นข้อเสนอ: วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561
3.2 เมื่อครบกำหนดเวลาการยื่นข้อเสนอในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ปรากฎว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนจำนวน 1 กลุ่ม คือกิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ซึ่งประกอบด้วย (1) บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบังเทอร์มินัล จำกัด (2) บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด (3) บริษัท โอเชี่ยนเน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และ (4) บริษัท ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด ทั้งนี้ การยื่นซองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่มีผู้ร้องเรียน และการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมและสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ดำเนินการต่อไป
3.3 เนื่องจากมีผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเพียง 1 ราย คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 จึงได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวแล้วเห็นว่า ในประกาศเชิญชวน ข้อ 12.7 ได้กำหนดไว้ว่า “การประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนครั้งใด ถ้ามีผู้เสนอเพียงรายเดียวหรือหลายราย แต่เสนอถูกต้องตามรายการในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนเพียงรายเดียว หากคณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่า จะเป็นประโยชน์กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในประกาศเชิญชวนต่อไป” ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ที่กำหนดว่า “การประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนครั้งใด ถ้ามีผู้เสนอเพียงรายเดียวหรือหลายราย แต่เสนอถูกต้องตามรายการในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนเพียงรายเดียว ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 เห็นว่า รัฐจะได้ประโยชน์ก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ต่อไป” ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 พิจารณาถึงผลประโยชน์ของภาครัฐ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในการสนับสนุนการนำเข้า – ส่งออกสินค้าของประเทศ สรุปได้ ดังนี้
(1) สัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดมาเป็นระยะเวลานาน และสาธารณูปโภคไม่มีการบำรุงรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
การสรรหาเอกชนเพื่อเป็นผู้รับสัมปทานสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ในครั้งแรก การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้รูปแบบการประมูลอัตราค่าสัมปทานพื้นที่สัมปทานเป็นเครื่องมือในการตัดสินคัดเลือกเอกชนรับสัมปทาน และมอบให้ผู้ได้รับสัมปทานเป็นผู้ให้บริการ รวม 6 สถานี ซึ่งสัญญาสัมปทานดังกล่าวได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2554 และผู้ประกอบการรายเดิมยังคงให้บริการจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีการปรับปรุงสาธารณูปโภคแต่อย่างใด เนื่องจากรอความชัดเจนจากสัมปทานครั้งใหม่ ดังนั้น การดำเนินการสรรหาเอกชนเพื่อรับสัมปทานสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ได้โดยเร็วจะทำให้รัฐได้รับประโยชน์จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ เนื่องจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่จะต้องปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะ จัดการระบบป้องกันอัคคีภัย รวมถึงปรับปรุงเครื่องมือยกขนตู้สินค้าทางรถไฟ ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อการอำนวยความสะดวกและประสิทธิภาพด้านการขนส่งแก่ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าของประเทศ
(2) รัฐมีนโยบายปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การดำเนินงานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ
การขนส่งตู้สินค้าระหว่างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังกับท่าเรือแหลมฉบังในปัจจุบันมีสัดส่วนการขนส่งทางถนนเป็นจำนวนมากซึ่งมีต้นทุนในการขนส่งสูง ดังนั้น หากสามารถสรรหาเอกชนเพื่อเป็นผู้ร่วมลงทุนใหม่ได้โดยเร็วจะเป็นประโยชน์สำหรับการสนับสนุนนโยบายของรัฐด้านการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) เนื่องจากในสัญญาสัมปทานใหม่ผู้ประกอบการจะต้องใช้บริการขนส่งทางรางระหว่างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังกับท่าเรือแหลมฉบัง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ของปริมาณตู้สินค้านำเข้า – ส่งออก ที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี (ปัจจุบันมีสัดส่วนการขนส่งทางรางเพียง ร้อยละ 20 ) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทย และสอดคล้องกับนโยบายด้านการขนส่งของรัฐ
(3) ผู้ยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนรายเดียวเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง รายเดิม 2 บริษัทรวมตัวกันส่งผลให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ประกอบด้วยผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง เดิม 2 ราย คือ บริษัท อีสเทิร์น ซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และบริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึง บริษัท โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีบริษัท เอ็น วาย เค ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งมีประสบการณ์ในการดำเนินงานสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังด้วย จึงส่งผลให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องไม่มีการหยุดชะงักไม่กระทบต่อการนำเข้า – ส่งออก ตู้สินค้าของประเทศ ทั้งนี้ หากการให้บริการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง เกิดประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จะทำให้เกิดการสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) รวมทั้งสนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบังอีกทางหนึ่งด้วย
(4) ค่าบริการโครงการไอซีดี ลาดกระบัง
การสรรหาเอกชนเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง มุ่งเน้นการลดต้นทุนการขนส่งให้กับผู้นำเข้าและส่งออก โดยให้มีการแข่งขันเสนอราคาค่าบริการต่างๆ ที่จะเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการในอัตราที่ต่ำ ถึงแม้ว่าจะมีผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเพียงรายเดียว แต่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถทราบก่อนได้ว่าจะไม่มีผู้แข่งขันในการประมูลจึงต้องยื่นข้อเสนอในลักษณะที่มีโอกาสจะได้รับการคัดเลือก
จากเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและการรถไฟแห่งประเทศไทย ประกอบกับในประกาศเชิญชวนกำหนดหลักการนี้ไว้แล้ว นอกจากนี้ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ยังคงต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการว่า มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศด้วย
3.4 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 พิจารณาผลการตรวจสอบเอกสาร และรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเห็นว่า มีความครบถ้วนและถูกต้อง รวมทั้ง มีหลักประกันซองเป็นไปตามเงื่อนไขของประกาศเชิญชวนฯ จึงมีมติให้กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) มีคุณสมบัติเป็นไปตามประกาศเชิญชวน และมีประกาศฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เรื่อง ประกาศผลการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติและเงื่อนไขอื่นตามประกาศเชิญชวนผู้ยื่นข้อเสนอ “ร่วมลงทุน” โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ให้กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้ทำการเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมสถานีรถไฟบางซ่อน
4. ผลการคัดเลือก และการเจรจากับผู้ร่วมลงทุน
4.1 หลักเกณฑ์การให้คะแนนข้อเสนอด้านเทคนิค (ซองที่ 2) จะพิจารณาให้คะแนนเริ่มต้นจากข้อเสนอการดำเนินงานตามโครงการ เพื่อให้เห็นภาพรวมการดำเนินการ ศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอทั้งหมดก่อน แล้วจึงจะพิจารณาด้านความสอดคล้อง และด้านความน่าเชื่อถือ ตามลำดับ ซึ่งหลักเกณฑ์ย่อยที่ใช้ในการพิจารณามีจำนวนทั้งสิ้น 100 คะแนน ดังนี้
รายการ/ คะแนนเต็ม (คะแนน)
ความสอดคล้องของข้อเสนอเปรียบเทียบกับประกาศเชิญชวน 20
ความน่าเชื่อถือของรายละเอียดที่ปรากฏในรายการ 20
ข้อเสนอการดำเนินงานโครงการในภาพรวม ซึ่งรวมถึงศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอในการดำเนินงานตามโครงการให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ 60
คะแนนรวมทั้งสิ้น 100
ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนจะผ่านการพิจารณาได้จะต้องได้คะแนนรวมตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป (คะแนนรวมของ ทั้ง 3 หัวข้อ) และจะต้องได้คะแนนในแต่ละหัวข้อไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50
4.2 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้พิจารณาข้อเสนอแต่ละรายการตามเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเทียบกับเกณฑ์การให้คะแนน สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
รายการ/คะแนนเต็ม (คะแนน)/คะแนนที่ได้รับ(คะแนน)
ความสอดคล้องของข้อเสนอเปรียบเทียบกับประกาศเชิญชวน / 20 / 20.000
ความน่าเชื่อถือของรายละเอียดที่ปรากฏในรายการ / 20 / 12.545
ข้อเสนอการดำเนินงานโครงการในภาพรวม ซึ่งรวมถึงศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอในการดำเนินงานตามโครงการให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ / 60 / 55.800
คะแนนรวมทั้งสิ้น / 100 / 88.345
คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลของคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคเป็นไปตามเงื่อนไขของประกาศเชิญชวนฯ โดยมีผลคะแนนแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และคะแนนรวมมากกว่าร้อยละ 80 จึงมีมติให้ กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) เป็นผู้ผ่านการพิจารณา
4.3 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 มีประกาศ ฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2561 เรื่อง ประกาศผลการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติและเงื่อนไขอื่น ตามประกาศเชิญชวนผู้ยื่นข้อเสนอ “ร่วมลงทุน” โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่ (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ให้กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้ทำการเปิดซองข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ (ซองที่ 3) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมสถานีรถไฟบางซ่อน
4.4 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 เพื่อพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ (ซองที่ 3) โครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง โดยได้ดำเนินการตรวจสอบอัตราค่าบริการที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเสนอมานั้นพบว่า ต่ำกว่าอัตราค่าบริการตามประกาศของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีความแตกต่างของอัตราค่าบริการแต่ละรายการ สรุปได้ ดังนี้
(1) ราคาค่าบริการยกขนตู้สินค้าที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเสนอมาต่ำกว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยร้อยละ 4
(2) ราคาค่าบริการบรรจุตู้สินค้าที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเสนอมาต่ำกว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยร้อยละ 2
(3) ราคาค่าเช่าคลังสินค้าที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ เสนอมาต่ำกว่าการท่าเรือ แห่งประเทศไทยร้อยละ 2 (เฉพาะสินค้าทัณฑ์บนที่มีระยะเวลาฝาก 1 - 7 วัน มีราคาต่ำกว่าร้อยละ 51)
(4) ราคาค่าฝากตู้หนักและตู้เปล่าที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ เสนอมาต่ำกว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยร้อยละ 2
(5) ราคาค่าผ่านสถานี กรณีบรรทุกหรือรถยนต์หัวลากพร้อมรถพ่วงต่ำกว่า 8 ล้อ ราคาที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ เสนอมาสูงกว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่กรณีบรรทุกหรือรถยนต์หัวลากพร้อมรถพ่วง 8 ล้อ และ 10 ล้อ ราคาที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ เสนอมาต่ำกว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยร้อยละ 2 รวมทั้งได้ดำเนินการตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างราคาค่าบริการที่เสนอกับรายได้ค่าใช้บริการจากการคาดคะเนทางการเงินของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน โดยการวิเคราะห์รายได้จากราคาค่าบริการยกขนตู้สินค้าเปรียบเทียบกับรายได้ค่าใช้บริการจากการคาดคะเนทางการเงิน ทั้งนี้ ในการคำนวณรายได้จากราคาค่าบริการยกขนตู้สินค้าใช้ข้อมูล 3 รายการ ได้แก่ (1) โครงสร้างสัดส่วนตู้สินค้าขนส่งทางรถไฟแยกตามขนาดตู้และสถานะตู้สินค้า ซึ่งคำนวณสัดส่วนจากข้อมูลสถิติปริมาณตู้สินค้าขนส่งทางรถไฟแยกตามขนาดตู้ย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2554 - 2558) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และสถิติตู้สินค้าเปล่าต่อตู้สินค้าขาเข้า และขาออก ปี 2554 - 2558 ของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน (2) ปริมาณตู้สินค้าจากข้อมูลการคาดการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ และ (3) ราคาค่าบริการยกขนตู้สินค้าของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า รายได้ค่าบริการยกขนตู้สินค้าที่คำนวณได้ใกล้เคียงกับการประมาณรายได้ค่าใช้บริการจากการคาดคะเนทางการเงิน ดังนั้น อัตราค่าบริการที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ เสนอมานั้นมีความสอดคล้องกับข้อเสนอทางด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ (Operation Process) ตามที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนได้มีการเสนอมาในเอกสารซองที่ 2
4.5 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 พิจารณาตามข้อ 4.4 แล้ว เห็นว่าข้อเสนอของโครงการในภาพรวมเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) รวมทั้งอัตราค่าบริการที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเสนอมาต่ำกว่าอัตราค่าบริการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นอัตราค่าบริการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยอัตรานี้จะเป็นอัตราค่าบริการอัตราเดียวที่จะใช้ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 20 ปี นอกจากนั้น อัตราค่าบริการที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเสนอมีความสอดคล้องกับข้อเสนอทางด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ (Operation Process) ตามที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนได้มีการเสนอในเอกสารซองที่ 2 และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการประหยัดงบประมาณการลงทุน เนื่องจากเอกชนจะลงทุนปรับปรุงสาธารณูปโภคที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังทั้งหมดตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 20 ปี คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 จึงมีมติให้กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) เป็นผู้ชนะการแข่งขันเสนอราคาและเชิญมาเจรจาต่อรองข้อเสนอร่วมลงทุน
4.6 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 มีประกาศ ฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2562 เรื่อง ผลการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจสอบข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ ตามประกาศเชิญชวนผู้ยื่นข้อเสนอ “ร่วมลงทุน” โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ให้กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) เป็นผู้ชนะการแข่งขันเสนอราคา
4.7 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้มีหนังสือ ที่ รฟ.รวศ.1000/2/2562 ลงวันที่ 4 มกราคม 2562 ถึงกิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) เรื่องเชิญเจรจาต่อรองข้อเสนอร่วมลงทุน โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 เชิญกิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) เข้าเจรจาต่อรองข้อเสนอร่วมลงทุน ในวันที่ 9 มกราคม 2562 ณ การรถไฟแห่งประเทศไทย
4.8 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 พิจารณาแนวทางการเจรจาต่อรองข้อเสนอร่วมลงทุน โดยที่ปรึกษาที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้ทำการจำลองสถานการณ์ทางการเงิน (Financial Scenario) ที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ทางการเงิน ซึ่งพิจารณาจากผลตอบแทนทางการเงินและอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินเพื่อทดสอบการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้า (Handling Charge) ใช้อัตราคิดลด ร้อยละ 8 สรุปได้ ดังนี้
กรณี (Base case)
กรณี 1
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 4 จากราคาประกาศของการท่าเรือ
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) 11.7
NPV (%) 517.34
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 1.68 – 2.47
NPV DCR* 0.00 - 1.77
กรณี 2
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 5 จากราคาประกาศของการท่าเรือ
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) 10.37
NPV (%) 324.34
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 1.59 – 2.36
NPV DCR* -0.01 – 1.63
กรณี 3
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ ๑๐ จากราคาประกาศของการท่าเรือ
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) 2.53
NPV (%) -640.68
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 1.03 – 1.77
NPV DCR* -0.04 – 0.97
กรณี 4
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 15 จากราคาประกาศของการท่าเรือ
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) -12.79
NPV (%) -1,605.71
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 0.32 - 1.26
NPV DCR* -0.07 – 0.47
กรณี 5
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 5 จากราคาประกาศของการท่าเรือ เฉพาะช่วง 5 ปี แรก (ปีอื่นลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 4)
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) 11.25
NPV (%) 462.28
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 1.68 – 2.47
NPV DCR* -1.78
กรณี 6
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 10 จากราคาประกาศของการท่าเรือ เฉพาะช่วง 5 ปี แรก (ปีอื่นลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 4)
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) 9.21
NPV (%) 186.97
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 1.52 – 2.47
NPV DCR* -1.81
กรณี 7
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 15 จากราคาประกาศของการท่าเรือ เฉพาะช่วง 5 ปี แรก (ปีอื่นลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 4)
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) 7.47
NPV (%) -88.33
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 1.05 – 2.47
NPV DCR* -1.84
กรณี 8
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 5 จากราคาประกาศของการท่าเรือ เฉพาะช่วง 7** ปี ท้าย (ปีอื่นลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 4)
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) 11.42
NPV (%) 464.16
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 1.68 – 2.47
NPV DCR* 0.00 - 1.77
กรณี 9
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 10 จากราคาประกาศของการท่าเรือ เฉพาะช่วง 7** ปี ท้าย (ปีอื่นลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 4)
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) 9.72
NPV (%) 198.23
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 1.11 – 2.47
NPV DCR* 0.00 - 1.77
กรณี 10
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 15 จากราคาประกาศของการท่าเรือ เฉพาะช่วง 7** ปี ท้าย (ปีอื่นลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 4)
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) 7.25
NPV (%) -67.7
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 0.37 – 2.47
NPV DCR* 0.00 - 1.77
หมายเหตุ: : * ตัวชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ที่ World Bank เสนอ คือ Annual Debt Service Cover Ratio (ADSCR) ไม่ควรต่ำกว่า 1.3 และ NPV Debt Cover Ratio (NPV DCR) ไม่ควรต่ำกว่า 1.7 (World Bank. 2007. Port Reform Toolkit, Module 5: Financial Implications of Port Reform, Second Edition: 241)
** ลดราคาในช่วงท้ายสัญญา เพราะช่วงแรกมีการลงทุนจำนวนมาก และในช่วง 7 ปีท้ายเริ่มมีการจ่ายเงินปันผล
คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 พิจารณาการวิเคราะห์ดังกล่าวแล้ว กำหนดแนวทางการเจรจาแบ่งเป็น 4 กรณี เนื่องจาก เห็นว่าเป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้ และมีความสอดคล้องกับประมาณ การทางการเงินซึ่งจะทำให้โครงการสามารถบริหารจัดการได้และมีผลกระทบทางการเงินต่อผู้ยื่นข้อเสนอน้อย รวมทั้งภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ จึงมีแนวทางการเจรจาต่อรองเป็นลำดับดังนี้
(1) กรณี 3 ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 10 จากราคาประกาศของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
(2) กรณี 6 ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 10 จากราคาประกาศของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เฉพาะช่วง 5 ปีแรก (ปีอื่นลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 4)
(3) กรณี 2 กรณีลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 5 จากราคาประกาศของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย
(4) กรณี 8 ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 5 จากราคาประกาศของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เฉพาะช่วง 7 ปี ท้าย (ปีอื่นลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า ร้อยละ 4)
4.9 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้ดำเนินการเจรจาต่อรองข้อเสนอร่วมลงทุนกับกิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) โดยสรุปผลการเจรจาต่อรองได้ ดังนี้
(1) การเจรจารอบที่ 1 : คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ต่อรองราคาได้ขอให้ลดอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้าร้อยละ 10 จากราคาประกาศของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งหลังจากที่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนได้ใช้เวลาพอประมาณในการปรึกษากันภายในกลุ่มกิจการร่วมค้า ก็ได้กลับเข้ามาในที่ประชุมโดยยื่นข้อเสนอลดค่าบริการยกขนตู้สินค้าร้อยละ 6 ในช่วง 5 ปีแรก แต่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 มีความเห็นว่า อัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้าดังกล่าวยังไม่ต่ำพอที่จะดึงดูดให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น
(2) การเจรจารอบที่ 2 : คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้เจรจาขอให้ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนลดอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้าร้อยละ 10 ในช่วง 1-10 ปีแรก แต่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน ยังยืนยัน ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้าร้อยละ 6 ในช่วง 5 ปีแรก เช่นเดิม
(3) การเจรจารอบที่ 3 : คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้เสนอทางเลือกให้ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกแรกลดอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้าร้อยละ 10 ในปีที่ 1 - 5 และลดอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้าร้อยละ 4 ในปีที่ 6 - 20 และทางเลือกที่สอง ลดอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้าร้อยละ 6 ในปีที่ 1 - 5 ลดอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้าร้อยละ 5 ในปีที่ 6 - 10 และลดอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้าร้อยละ 4 ในปีที่ 11 - 20 จากนั้นผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนได้ปรึกษากันภายในกลุ่มกิจการร่วมค้าแล้วยอมรับทางเลือกที่สอง คือ ในปีที่ 1 - 5 ลดอัตราค่าบริการร้อยละ 6 จากราคาประกาศของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในปีที่ 6 - 10 ลดอัตราค่าบริการร้อยละ 5 จากราคาประกาศของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และในปีที่ 11 - 20 ลดอัตราค่าบริการร้อยละ 4 จากราคาประกาศของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
ซึ่งอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้าดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจ โดยมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (IRR) เท่ากับร้อยละ 10.44 และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นบวก และเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งรวมถึงค่า ADSCR และ NPV DCR ด้วย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
กรณีอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้าที่กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ตอบรับผลการเจรจาเป็นลายลักษณ์อักษร
ลดค่าบริการยกขนตู้สินค้า 6% ในปีที่ 1-5
5% ในปีที่ 6-10 และ 4% ในปีที่ 11-20 จากราคาประกาศของการท่าเรือ
ผลตอบแทนทางการเงิน
IRR (%) 10.44%
NPV (%) 351.95
อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้
ADSCR* 1.59 – 2.36
NPV DCR* -1.79
หมายเหตุ: : * ตัวชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ที่ World Bank เสนอ คือ Annual Debt Service Cover Ratio (ADSCR) ไม่ควรต่ำกว่า 1.3 และ NPV Debt Cover Ratio (NPV DCR) ไม่ควรต่ำกว่า 1.7 (World Bank. 2007. Port Reform Toolkit, Module 5: Financial Implications of Port Reform, Second Edition: 241)
4.10 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้มีมติรับข้อเสนอใหม่ในการลดอัตราค่าบริการตามข้อ 3.4.9 ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนจะต้องยืนยันราคาค่าบริการเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันเจรจาต่อรองข้อเสนอร่วมลงทุน (ภายในวันที่ 16 มกราคม 2562) ซึ่งกิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ได้มีหนังสือลงวันที่ 14 มกราคม 2562 ถึงคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 35 ยืนยันราคาค่าบริการยกขนตู้สินค้า (Handling Charge) ตามกำหนดเวลาเรียบร้อยแล้ว
4.11 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้ส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ ให้กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) พิจารณา และกิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 มกราคม 2562 นำส่งรายการขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ
4.12 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ได้พิจารณาการยืนยันราคาค่าบริการยกขนตู้สินค้า (Handling Charge) ที่ได้เจรจาต่อรองข้อเสนอร่วมลงทุนและการขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ตามที่กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) เสนอ โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ยืนยันราคาค่าบริการยกขนตู้สินค้า (Handling Charge) (ที่ปรึกษาฯ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างเพื่อสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้ตรวจสอบอัตราค่าบริการยกขนตู้สินค้า (Handling Charge) ทุกรายการแล้ว เป็นไปตามผลการเจรจาต่อรอง และได้ตรวจสอบตารางไปใส่ในภาคผนวก จ ของ (ร่าง) สัญญาร่วมลงทุนเพื่อให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน) สำหรับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 มีมติปรับแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ และส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ ให้กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) พิจารณาแล้วตอบกลับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ภายในวันที่ 18 มกราคม 2561 ซึ่งกิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ได้ตอบกลับภายในกำหนดเวลา คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562 จึงได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ
5. ข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35
จากการดำเนินการตามข้อ 4 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 เห็นสมควรให้ กิจการ ร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง โดยมีอายุสัญญาร่วมลงทุนเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันลงนามในสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากพื้นที่ 607,344 ตารางเมตร แบ่งเป็น
- ปีที่ 1 - 5 เท่ากับ 67 บาท ต่อตารางเมตร ต่อเดือน
- ปีที่ 6 - 10 เท่ากับ 71 บาท ต่อตารางเมตร ต่อเดือน
- ปีที่ 11 - 15 เท่ากับ 74 บาท ต่อตารางเมตร ต่อเดือน
- ปีที่ 16 - 20 เท่ากับ 78 บาท ต่อตารางเมตร ต่อเดือน
รวมถึงผลประโยชน์ที่ภาครัฐให้ผู้ร่วมลงทุนปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์และดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในพื้นที่ทั้งหมดแทน ซึ่งผู้ร่วมลงทุนมีแผนการลงทุนตลอดอายุสัญญามีมูลค่ารวม 4,052 ล้านบาท ตลอดจนการสนับสนุนนโยบายภาครัฐด้วยการปรับเปลี่ยนการขนส่ง (Shift Mode) ให้ขนส่งทางรางเพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละปี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรที่หนาแน่นและลดปัญหาการปล่อยควันพิษบนท้องถนนระหว่างเส้นทางการขนส่งตู้สินค้าระหว่าง ไอซีดี ลาดกระบัง กับ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนา ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบังอีกด้วย ในส่วนของผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์จากอัตราค่าใช้บริการที่ถูกลงเป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการลดต้นทุนโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการนำเข้า – ส่งออกสินค้าของประเทศ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤษภาคม 2562--