รายงานความคืบหน้าการลงทุนการก่อสร้างระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ข่าวการเมือง Tuesday May 28, 2019 19:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานความคืบหน้าการลงทุนการก่อสร้างระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) (ดศ.)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอรายงานความคืบหน้าการลงทุนการก่อสร้างระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่ และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) สรุปได้ดังนี้

1. เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 มกราคม 2559) เห็นชอบในหลักการโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 15,000 ล้านบาท และ 2) การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) วงเงิน 5,000 ล้านบาท ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (7 ธันวาคม 2559) เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการฯ กิจกรรมที่ 2 โดย ดศ. มอบหมายให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท โทรคมนาคม) เป็นผู้ดำเนินการแทน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (16 พฤษภาคม 2560) รับทราบผลการดำเนินโครงการฯ และให้ ดศ. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานและรายงานความก้าวหน้าให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ

2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (1 สิงหาคม 2560) เห็นชอบในหลักการการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ กิจกรรมที่ 2 และกิจกรรมย่อยภายใต้โครงการ ASEAN Digital Hub ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ ดศ. และ บมจ. กสท โทรคมนาคมเร่งรัดการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งให้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (5 กุมภาพันธ์ 2562) เร่งรัดการพิจารณาประเด็นข้อหารือที่ยังไม่ได้ข้อยุติในโครงการดังกล่าวให้ได้ข้อยุติชัดเจนโดยเร็ว และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) รับไปประสานและเร่งรัดการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้แจ้งผลการพิจารณาไปยัง ดศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

3. ในครั้งนี้ ดศ. รายงานความคืบหน้าโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

3.1 การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปชายแดนฯ ความจุรวม 2,300 Gbps บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ลงนามในสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจนับอุปกรณ์ก่อนนำไปติดตั้ง 151 สถานีทั่วประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนด (ผลดำเนินการคิดเป็นร้อยละ 68)

3.2 การขยายความจุโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบที่มีอยู่ 1,770 Gbps บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ขยายความจุและส่งมอบสิทธิการใช้งานแก่ ดศ. แล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 (ผลดำเนินการคิดเป็นร้อยละ 98)

3.3 การร่วมก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เชื่อมต่อประเทศไทยกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความจุเบื้องต้น รวม 200 Gbps

3.3.1 ด้านการลงทุน บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้พิจารณาแนวทางการลงทุนในระบบเคเบิลใต้น้ำ ASIA Direct Cable (ADC) ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตรงระหว่างประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น เป็นเส้นทางหลัก (Trunk) และมีการต่อเชื่อม Branch กับประเทศไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ โดยคาดว่าจะมีการลงนามในเอกสารข้อตกลงระหว่างภาคีสมาชิกภายในเดือนพฤษภาคม 2562 และลงนามสัญญาจ้างภายในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563 และสามารถทดสอบระบบรวมถึงส่งมอบสิทธิการใช้งานให้ ดศ. ภายในปี 2564 ระบบ ADC ถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยีให้มีเส้นทางเสมือนการเชื่อมต่อตรง (Direct Route) โดยมีจุดขึ้นบกที่สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 3 ศรีราชา ประเทศไทยไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และระหว่างประเทศไทยไปยังสิงคโปร์ โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งอ้อมผ่านประเทศอื่น จึงมีส่วนช่วยสนับสนุนโครงการ Digital Park ตามนโยบาย EEC ของประเทศไทย

3.3.2 ด้านงบประมาณ งบประมาณลงทุนที่ใช้ในการก่อสร้างระบบ ADC ในส่วนของ บมจ. กสท โทรคมนาคม คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 60-65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทุกภาคีสมาชิกจะต้องร่วมลงทุนในเส้นทางหลักคิดเป็นร้อยละ 6.25 ของค่าก่อสร้างเส้นทางหลักทั้งหมดและส่วนของการเชื่อมต่อที่ไม่ใช่เส้นทางหลัก ภาคีสมาชิกจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเองทั้งหมด

ในส่วนของการขอรับการจัดสรรงบประมาณ ดศ. จะขอรับการจัดสรร งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนงบประมาณเดิมที่ถูกพับไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 1,000 ล้านบาทไว้แล้ว

3.3.3 ด้านกฎหมาย การลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำ ADC เป็นการดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งทรัพย์สินที่ได้จากการดำเนินงาน ไม่สามารถโอนให้กับ ดศ. ได้ แต่สามารถส่งมอบ สิทธิการใช้งานได้

3.3.4 ด้านประโยชน์ที่ได้จากระบบ ADC ASEAN Digital Hub จำเป็นต้องมีเส้นทางที่หลากหลาย มีเส้นทางที่เชื่อมตรง (Direct Route) ไปยังปลายทางสำคัญ หรือ Hub ภูมิภาคอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาน้อยที่สุด โดยระบบ ADC นั้น มีปลายทางไปยังประเทศที่เป็น Hub ในภูมิภาคใกล้เคียงหลายประเทศ เช่น จีน (ฮ่องกง) สิงคโปร์ ญี่ปุ่น

ระบบ ADC เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่ติดต่อตรงกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน (ฮ่องกง) เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อีกทั้งเป็นระบบที่สามารถเข้าถึงตรงได้จากพื้นที่ Digital Park Thailand ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ บมจ. กสท โทรคมนาคม อยู่ระหว่างเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น 5G, AI, Cloud, IoTs, Smart City, Big Data ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลดังกล่าวได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีระบบการสื่อสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่เพียงพอและหลากหลาย สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิถาค เช่น เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ได้ด้วยความจุช่องสัญญาณและเส้นทางสำรองที่เพียงพอ

เมื่อการก่อสร้างระบบ ADC แล้วเสร็จ (คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า) จะทำให้ประเทศไทยมีปริมาณความจุและเส้นทางเชื่อมโยงผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำไปจีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้นทาง สามารถรองรับความต้องการใช้งานที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้โครงข่ายระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะระหว่างไทยกับจีนมีความหลากหลาย มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับการดำเนินโครงการ ASEAN Digital Hub กิจกรรมย่อยที่ 1 และ 2 ที่มีการขยายความจุโครงข่ายเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และการขยายความจุโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศของระบบที่มีอยู่เดิมแล้ว จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการเชื่อมต่อของภูมิภาคพร้อมสู่การเป็น ASEAN Digital Hub อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะเป็น ASEAN Digital Hub ได้อย่างสมบูรณ์ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการดึงดูด Content Provider และต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เช่น มาตรการกำหนดอัตราค่าใช้ไฟฟ้าหรืออาจได้รับการชดเชยจากภาครัฐที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น รวมถึงมาตรการ จูงใจทางภาษี

อนึ่ง ในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ได้แก่ สิทธิการใช้งานวงจร ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กค. ได้มีหนังสือตอบข้อหารือ (การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562) สรุปได้ว่า สิทธิการใช้งานวงจรถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงระหว่างภาคีสมาชิก โดยภาคีทั้งหลายต้องตกลงยินยอมร่วมกันตามจำนวนเงินลงทุน ถ้าระหว่างภาคีสมาชิกไม่ตกลงยินยอมร่วมกันทรัพย์สินนี้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ สิทธิการใช้งานวงจร จึงมิใช่พัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างตาม คำนิยามนัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2540 สำหรับกรณีการนำสิทธิการใช้งานวงจรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศไปอนุญาตให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ใช้งาน จึงเป็นการที่สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะอนุญาตให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ใช้ทรัพย์สินของตน ย่อมเป็นดุลยพินิจของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ที่จะพิจารณา แต่ควรกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมเพื่อรองรับในเรื่องของสิทธิการเข้าใช้งานโครงข่ายดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ดศ. อยู่ระหว่างดำเนินการรับมอบทรัพย์สินที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ ASEAN Digital Hub ตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และจะพิจารณาแนวทางการอนุญาตให้สิทธิการใช้งานวงจรและอุปกรณ์ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม นำไปใช้งานตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ มีค่าบริการที่ต่ำลง ส่งผลให้ผู้บริการโทรคมนาคม ผู้ประกอบธุรกิจดิจิทัล รวมถึงผู้ให้บริการเนื้อหา (Content) มีต้นทุนที่ลดลง โดยต้นทุนที่ลดลงจะได้รับการส่งต่อไปยังผู้บริโภคในที่สุด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤษภาคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ