คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ สำหรับรายละเอียดแนวทางตามแผนฯ ให้กระทรวงคมนาคมและ ขสมก. ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
กระทรวงคมนาคม [องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)] เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. เนื่องจาก ขสมก. ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่องและมีหนี้สินคงค้างจำนวนมาก โดยแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ขสมก. ใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงระบบการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการหารายได้และการบริหารจัดการหนี้สิน ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารองค์กรที่ยั่งยืนและลดภาระกับภาครัฐ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 รับทราบและเห็นควรให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปได้ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.
1. สภาพปัญหา ขสมก.
1.1 สภาพรถโดยสารประจำทาง สภาพรถ รถโดยสารเก่าและทรุดโทรม/จำนวนไม่เพียงพอต่อการให้บริการ
1.2 ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
1.3 โครงสร้างองค์กร ขสมก. มีพนักงานทั้งหมด 13,599 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2561) คิดเป็นสัดส่วนต่อรถ 1 คัน ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน 5.14 คน
1.4 ต้นทุนในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และดอกเบี้ยจ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
1.5 สถานะทางการเงิน รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง
2. แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.
2.1 วัตถุประสงค์ที่ 1 เพื่อปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้รถใหม่และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
กลยุทธ์ที่ 1 จัดหารถโดยสารใหม่/ปรับปรุงสภาพรถเดิม เช่น ซื้อรถ NGV ปรับปรุงรถ NGV เดิม ซื้อรถไฮบริด รถ EV เช่ารถโดยสารใหม่
กลยุทธ์ที่ 2 การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่น ติดตั้งระบบ E – Ticket ชำระค่าโดยสารด้วย QR – Code ติดตั้งระบบ GPS ให้บริการ WIFI บนรถ
กลยุทธ์ที่ 3 การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ เช่น เชื่อมต่อเส้นทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ให้บริการเส้นทางที่ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ
2.2 วัตถุประสงค์ที่ 2 เพื่อให้ ขสมก. สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ลดภาระกับภาครัฐ
กลยุทธ์ที่ 1 ลดค่าใช้จ่ายพนักงาน เช่น โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับลง ลดพนักงานเป็น 2.75 คนต่อรถ 1 คัน ในปี 2565
กลยุทธ์ที่ 2 ลดค่าซ่อมบำรุงและค่าเชื้อเพลิง เช่น จัดหารถใหม่ให้ได้ตามแผน เพื่อลดค่าซ่อมบำรุง และจัดหารถที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นแทนน้ำมันดีเซล
กลยุทธ์ที่ 3 เพิ่มรายได้ เช่น พัฒนาพื้นที่อู่บางเขนเป็นศูนย์การค้า โรงแรมระดับบน และพื้นที่อู่มีนบุรีเป็นตลาด
กลยุทธ์ที่ 4 การบริหารหนี้สิน
3. ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
3.1 รถโดยสารมีคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น สามารถอำนวยความสะดวกและยกระดับความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
3.2 การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ รองรับภารกิจในอนาคต มุ่งสู่ BMTA 4.0
3.3 ขสมก. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี สามารถเลี้ยงตนเองได้ ลดภาระกับภาครัฐ และสามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 มิถุนายน 2562--