การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรี

ข่าวการเมือง Tuesday July 30, 2019 17:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีที่ผ่านมาของรัฐมนตรีในการเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 และมาตรา 105 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่เกี่ยวข้องได้กำหนดเกี่ยวกับการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้

1. วันเข้ารับตำแหน่ง

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันเข้ารับตำแหน่ง (วันเข้ารับตำแหน่ง หมายถึง วันถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์)

2. วันพ้นจากตำแหน่ง

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่ง (วันพ้นจากตำแหน่ง หมายถึง วันที่ลาออก หรือวันที่พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น แล้วแต่กรณี ส่วนในกรณีที่คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้หมายถึง วันที่คณะรัฐมนตรีคณะใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์)

3. กรณีพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ หรือเข้ารับตำแหน่งอื่นที่ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินหรือหนี้สิน

กรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน

4. บุคคลที่ถือว่าเป็นคู่สมรส

การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรสตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ดังนี้

4.1 บุคคลซึ่งได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินกันฉันสามีภริยาตามประเพณี

4.2 บุคคลซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว

4.3 บุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีและต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมายแล้ว แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน

5. การขอขยายเวลาการยื่นบัญชีแสดงรายการฯ และการขอแก้ไขบัญชีแสดงรายการฯ

5.1 ก่อนครบกำหนดตามระยะเวลาข้อ 1 และข้อ 2 ผู้ยื่นบัญชีอาจยื่นคำขอขยายระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ โดยต้องระบุเหตุผลและความจำเป็นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยอาจมีการขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

5.2 กรณีการขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้ยื่นไว้แล้ว มีดังนี้

5.2.1 ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามข้อ 1 และข้อ 2 ผู้ยื่นบัญชีสามารถยื่นคำขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบที่ได้ยื่นไว้แล้ว

5.2.2 หากครบกำหนดระยะเวลาตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว ให้ผู้ยื่นบัญชียื่นคำขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบพร้อมคำชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

6. ทรัพย์สินที่จะต้องแสดงรายการฯ

6.1 ทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามที่มีอยู่จริงในวันเข้ารับตำแหน่งหรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี

6.2 ทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในต่างประเทศตามที่มีอยู่จริง

6.3 ทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

7. เอกสารที่ต้องยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

7.1 บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตำแหน่งหรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี ตามแบบที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด

7.2 สำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินและหนี้สินนั้นมีอยู่จริง

7.3 สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เอกสารที่ยื่นจะต้องมีลายมือชื่อผู้ยื่นรับรองกำกับไว้ทุกหน้า โดยให้จัดทำเอกสารทั้งหมดจำนวน 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นต้นฉบับ และอีกชุดหนึ่งเป็นสำเนาคู่ฉบับ

8. วิธียื่นบัญชีแสดงรายการฯ

8.1 จัดส่งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นจัดส่งแทน

8.2 จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

9. ผลของการไม่ยื่นบัญชี หรือยื่นบัญชีเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

9.1 ผู้ที่จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย โดยให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง และถ้าหากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่าผู้ใดกระทำความผิด ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

9.2 ผู้กระทำความผิดตามข้อ 9.1 จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ด้วย

9.3 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 กรกฎาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ