1. เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน (สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 24 (1) กำหนดให้ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้สำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานหลัก โดยร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการกำหนดนโยบายงบประมาณประจำปี ประมาณการรายได้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย และวิธีการเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือการจัดการในกรณีที่ประมาณการรายได้สูงกว่าวงเงินงบประมาณ เมื่อได้ดำเนินการแล้วให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 เห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวันที่ 6 สิงหาคม 2562 นั้น
1. วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2563
1.1 สมมติฐานทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกที่คาดว่าจะสามารถปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 และการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 – 1.8 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
1.2 ประมาณการรายได้รัฐบาล
ปีงบประมาณ พ.ศ 2563 คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,237,500 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ จำนวน 2,550,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 181,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1
1.3 นโยบายงบประมาณ วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2563
จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจและประมาณการรายได้รัฐบาลตามข้อ 1.1 และ ข้อ 1.2 ดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การจัดการรายจ่ายภาครัฐสามารถขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ 2560 – 2564) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564) แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยงานตามกฎหมาย จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ 2563 จำนวน 469,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ที่กำหนดไว้ 3,000,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.7 โดยมีสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท ดังนี้
1) โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
(1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,393,120.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 120,463.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74.7 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 75.8
(2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.0 ของวงเงินงบประมาณรวม
(3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 655,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 จำนวน 5,861.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 21.6
(4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 จำนวน 10,964.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 2.6
2) รายได้สุทธิ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท
3) งบประมาณขาดดุล จำนวน 469,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 19,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ 2562
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท ดังกล่าวเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 - 2565) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีจำนวนและสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ 2561
รายละเอียดโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ปรากฏตามตาราง ดังนี้
โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (หน่วย : ล้านบาท)
รายการ ปีงบประมาณ 2562 จำนวน +เพิ่ม/-ลด จากปี 61
จำนวน ร้อยละ
1. วงเงินงบประมาณรายจ่าย 3,000,000.00 -50,000.00 -1.6 -สัดส่วนต่อ GDP 17.6 1.1 รายจ่ายประจำ 2,272,656.30 35,710.10 1.6 -สัดส่วนต่องบประมาณ 75.8 1.2 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง - -49,641.90 -100 -สัดส่วนต่องบประมาณ - 1.3 รายจ่ายลงทุน 649,138.20 -27,331.40 -4 -สัดส่วนต่องบประมาณ 21.6 1.4 รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 78,205.50 -8,736.80 -10 -สัดส่วนต่องบประมาณ 21.6 2. รายได้ 2,550,000.00 50,358.10 2 -สัดส่วนต่อ GDP 15 3. วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 450,000.00 -100,358.10 -18.2 -สัดส่วนต่อ GDP 2.6 4. กรอบวงเงินกู้สูงสุดเพื่อชดเชย 662,564.40 -16,989.40 -2.5 การขาดดุลตาม พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ 5. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 17,019,700.00 701.700.0 4.3 รายการ ปีงบประมาณ 2563 จำนวน +เพิ่ม/-ลด จากปี 62
จำนวน ร้อยละ
1. วงเงินงบประมาณรายจ่าย 3,200,000.00 200,000.00 6.7 -สัดส่วนต่อ GDP 17.9 1.1 รายจ่ายประจำ 2,393,120.10 120,463.80 5.3 -สัดส่วนต่องบประมาณ 74.7 1.2 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 62,709.50 62,709.50 100 -สัดส่วนต่องบประมาณ 2 1.3 รายจ่ายลงทุน 655,000.00 5,861.80 0.9 -สัดส่วนต่องบประมาณ 20.5 1.4 รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 89,170.40 10,964.90 14 -สัดส่วนต่องบประมาณ 2.8 2. รายได้ 2,731,000.00 181,000.00 7.1 -สัดส่วนต่อ GDP 15.3 3. วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 469,000.00 19,000.00 4.2 -สัดส่วนต่อ GDP 2.6 4. กรอบวงเงินกู้สูงสุดเพื่อชดเชย 711,336.30 48,771.90 7.4 การขาดดุลตาม พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ 5. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 17,836,700.00 817,000.00 4.8 หมายเหตุ : มติที่ประชุม 4 หน่วยงาน (สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562
2. ข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม
2.1 การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลืออยู่ของปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐ การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนที่ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพัน การปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของแผนงาน / โครงการ ที่ไม่สามารถก่อหนี้ได้ทันภายในปีงบประมาณ เพื่อนำไปดำเนินแผนงาน / โครงการ ที่มีความพร้อม การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการนำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงการดำเนินมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายและการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรฐกิจโดยเร็ว
สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในระยะต่อไป ควรให้ความสำคัญกับการจัดทำเป้าหมายและแนวทางการลดระดับหนี้สาธารณะในอนาคต การส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ การปรับโครงสร้างภาษี และการนำมาตรการทางการเงินสมัยใหม่และแหล่งเงินอื่นมาใช้เพื่อลดภาระงบประมาณ อาทิ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เงินสะสม ทรัพย์อิงสิทธิ เป็นต้น
2.2 หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญกับการลดรายจ่ายประจำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ควรมีการปฏิรูปเพื่อลดรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การปรับโครงสร้างกำลังคนภาครัฐและระบบการบรรจุทดแทนผู้เกษียณอายุในระยะยาว เป็นต้น รวมถึงการนำโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลมาสนับสนุนภารกิจการให้บริการประชาชนและนิติบุคคลให้มากขึ้น และการลดกฎเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อการเพิ่มขั้นตอนและภาระงบประมาณรายจ่ายประจำของภาครัฐอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนด้านการลงทุนของภาคเอกชนอีกทางหนึ่งด้วย
2.3 การดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ควรให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ความเหมาะสมกับฐานะการเงินการคลังของประเทศ และไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณในระยะยาว
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 สิงหาคม 2562