เรื่อง ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และรายงานการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1. รับทราบผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
2. ให้ อปท. ให้ความสำคัญกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท. และนำผลการประเมินและรายงานการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ไปใช้ปรับปรุงพัฒนาตนเองด้านคุณธรรมและความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท.
3. ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) นำผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และรายงานการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท. ไปพิจารณาดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ อปท. มีการยกระดับผลการประเมินให้สูงขึ้นตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) พร้อมทั้งกำกับติดตามการดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาตนเองของ อปท. อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยประสานรายละเอียดในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมสำนักงาน ป.ป.ช. โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แล้วรายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
1. เรื่องนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 7,851 หน่วยงาน (ยกเว้นกรุงเทพมหานครซึ่งมีการประเมินและเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562) ซึ่งจากผลการประเมินฯ สรุปได้ว่า ค่าคะแนนการประเมินฯ การดำเนินงานของ อปท. (ประกอบด้วย 10 ตัวชี้วัด) ได้ 61.11 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ (85 คะแนนขึ้นไป) โดยตัวชี้วัดคุณภาพการดำเนินงานมีระดับค่าคะแนนสูงสุด คือ 78.62 คะแนน ส่วนตัวชี้วัดการป้องกันการทุจริตมีระดับค่าคะแนนต่ำสุด คือ 35.99 คะแนน และได้จัดทำรายงานการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งได้มีการรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ จาก อปท. พบว่า มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานหลายประการโดยมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา เช่น
ปัญหา
(1) มีการให้บริการที่ไม่เท่าเทียม เสมอภาค และไม่สามารถตอบสนองต่อผู้รับบริการทุกกลุ่ม
ข้อเสนอแนะ
(1) ควรเสริมสร้างและพัฒนาระบบการให้บริการโดยมีการเปิดเผยขั้นตอนและวิธีการการให้บริการเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจและลดโอกาสการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่
ปัญหา
(2) มีการเรียกรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินบน เพื่อแลกกับการอนุมัติ อนุญาต
ข้อเสนอแนะ
(2) การบูรณาการและจัดระบบงานให้บริการที่สะดวกเพื่อลดระยะเวลาและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติ อนุญาต และการรับบริการสาธารณะ
ปัญหา
(3) อปท. ยังมีภาพลักษณ์ที่ไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ มีการถูกร้องเรียนว่าใช้งบประมาณไม่คุ้มค่าบิดเบือนไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้
ข้อเสนอแนะ
ควรมีการกำหนดมาตรการในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวข้องกับงบประมาณ
ปัญหา
(4) อปท. มีรูปแบบหลากหลายและแตกต่างกัน เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีการกำหนดหน้าที่และอำนาจซ้ำซ้อนกัน เช่น ถนน ถนนคนเดิน การจัดการแหล่งน้ำสาธารณะ ตลาด
ข้อเสนอแนะ
กำหนดรูปแบบของ อปท. ให้มีความชัดเจนกำหนดหน้าที่และอำนาจให้มีความชัดเจนไม่ทับซ้อนกัน
ปัญหา
(5) การจัดสรรสัดส่วนรายได้ให้ อปท. ยังคงไม่บรรลุสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ร้อยละ 35 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล (ปี 2561 สัดส่วนรายได้ อปท. ต่อรัฐบาล ร้อยละ 29.47)
ข้อเสนอแนะ
การเพิ่มรายได้ของ อปท. โดย
(1) รัฐต้องส่งเสริมและสนับสุนนวัตกรรมการสร้างและพัฒนาแหล่งรายได้ของ อปท. เพื่อให้ อปท. สามารถพัฒนารายได้ของตนเองอย่างเพียงพอและยั่งยืน สำหรับจัดทำบริการสาธารณะ เช่น จัดตั้งกองทุนพัฒนาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ
(2) ให้ อปท. มีการจัดเก็บรายได้จากแหล่งใหม่ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก
ปัญหา
(6) วิธีการจัดสรรรายได้ถูกจำกัดด้วยข้อมูลและตัวแปรจะนำมาใช้ในการจัดสรรงบประมาณโดยการจัดสรรตามสูตรที่มีตัวแปรด้านประชากรและขนาดพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งตัวแปรดังกล่าวไม่สามารถสะท้อนความต้องการงบประมาณที่แท้จริงในแต่ละพื้นที่
ข้อเสนอแนะ
ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้กับ อปท. โดยพิจารณาตามศักยภาพของแต่ละ อปท. เช่น รายได้ จำนวนประชากร พื้นที่ ความหนาแน่น ของประชากรและประชาการแฝง เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกต่างของแต่ละพื้นที่
ในการนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเห็นชอบผลการประเมินฯ และรายงานการศึกษาดังกล่าวแล้ว โดยได้มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประเมินฯ และให้ อปท. ให้ความสำคัญกับการประเมินฯ และนำผลการประเมินฯ ไปใช้ปรับปรุงพัฒนาตนเองด้านคุณธรรมและความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินฯ นอกจากนี้ ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) นำผลการประเมินฯ ไปพิจารณาดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ อปท. มีการยกระดับผลการประเมินให้สูงขึ้นตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติ มิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) พร้อมทั้งกำกับติดตามการดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาตนเองของ อปท. อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 สิงหาคม 2562