ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..)

ข่าวการเมือง Tuesday September 10, 2019 16:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

รง. เสนอว่า

1. โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 118 บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังนี้ (5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุด้ทาย 300 วัน หรือ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย และ (6) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

2. สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จึงได้เสนอให้มีการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2549 โดยขอแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าชดเชย และเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ปรับเพิ่มในอัตราสูงสุดจาก 300 วัน เป็น 400 วัน

3. ในการประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ตามข้อ 2 ในข้อ 59 (5) (6) และข้อ 61 (3) โดยปรับเพิ่มอัตราค่าชดเชยและปรับเพิ่มเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน และกำหนดสิทธิการได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ให้มีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562

4. พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (1) บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีอำนาจกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างและมาตรา 13 วรรคสอง บัญญัติให้มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง

5. ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ยังเห็นควรกำหนดให้มีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 จึงจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงประกาศดังกล่าวโดยเร่งด่วน

สาระสำคัญของร่างประกาศ (ที่มีการปรับปรุง)

1. กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้รับสิทธิค่าชดเชย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (ปรับจากประกาศปัจจุบันให้เกิดความชัดเจน)

2. กำหนดให้ขยายสิทธิได้รับค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (เพิ่มเติมจากประกาศปัจจุบัน)

3. กำหนดให้ขยายสิทธิให้แก่ลูกจ้างผู้ได้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน (เพิ่มเติมจากประกาศปัจจุบัน)

4. กำหนดสิทธิการได้รับเงินตอบแทนความชอบในการทำงานตามอัตราที่กำหนดโดยให้มีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 เป็นต้นไป (เพิ่มเติมจากประกาศปัจจุบัน)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กันยายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ