เรื่อง แนวทางการปฏิบัติในการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ต่อคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอแนวทางการปฏิบัติในการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ 2562 ต่อคณะรัฐมนตรีและให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติต่อไป
1. พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ 2562 มาตรา 8 วรรคห้า บัญญัติให้เมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงบประมาณจัดสรรเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้เสนอพร้อมกับการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับแผนการดำเนินการที่เจ้าหน้าที่ได้จัดทำระยะเวลาการใช้จ่ายและ ตามกำลังเงินของแผ่นดิน โดยให้นำเงินนอกงบประมาณหรือเงินรายได้มาประกอบการพิจารณาด้วย
2. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 สลค. ได้จัดประชุมหารือเรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ 2562 โดยมีเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) กรุงเทพมหานคร (สำนักการโยธา) สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติในการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป
3. ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประเด็นข้อกฎหมายเพื่อร่วมหารือแนวทางที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อให้มีความรอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การกำหนดวัตถุประสงค์ของการเวนคืน กำหนดระยะเวลาการใช้บังคับ จากเดิม 2 ปี (หรือตามเวลาที่ระบุในพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องไม่เกิน 4 ปี) เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมแต่ไม่เกิน 5 ปี กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นการเข้าสำรวจเท่าที่จำเป็น ซึ่งต้องไม่เกิน 180 วัน (ในกรณีจำป็นรัฐมนตรีอาจอนุมัติให้ขยายระยะเวลาโดยจัดทำเป็นประกาศได้ไม่เกิน 90 วัน) กำหนดให้กรมที่ดินส่งสำเนาแผนที่ระวางที่ดินที่เกี่ยวข้องให้กับเจ้าหน้าที่เวนคืนตามที่ร้องขอโดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายโดยให้เสนอไปพร้อมกับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนต่อคณะรัฐมนตรี ดังนั้น แนวทางปฏิบัติในการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีจึงเปลี่ยนแปลงไปจากแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติที่ถูกยกเลิกไป โดยการเสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้คำนึงถึงความรอบคอบและรัดกุมในการตราพระราชกฤษฎีกา และให้คำนึงถึง ความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในประเด็นเกี่ยวกับค่าทดแทนด้วย
4. ที่ประชุมได้หารือแนวทางการปฏิบัติในการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ 2562 ต่อคณะรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
4.1 ขั้นตอนการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนของหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณากรอบวงเงินการจัดสรรเงินค่าทดแทน และเมื่อสำนักงบประมาณพิจารณาเสร็จแล้วให้แจ้งผลการพิจารณากลับไปยังหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้ระบุไว้ในหนังสือที่เสนอเรื่องในหัวข้อ “ความเห็นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง” พร้อมแนบสำเนาหนังสือความเห็นของสำนักงบประมาณมาพร้อมด้วย
4.2 ขั้นตอนการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องจัดทำเอกสารเสนอไปที่ สลค. โดยให้ สลค. ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของร่างพระราชกฤษฎีกาและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องประกอบด้วยเนื้อหาดังนี้
เนื้อหาของร่าง พ.ร.ฎ. และเอกสารที่เสนอคณะรัฐมนตรี
วัตถุประสงค์ของการเวนคืน
รายละเอียด
อาจกำหนดหลายวัตถุประสงค์ตามความจำเป็นก็ได้ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เพื่อการอันจำเป็นในกิจการสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือประโยชน์สาธารณะ
ระยะเวลาการใช้บังคับของพระราชกฤษฎีกา
รายละเอียด
กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่เกิน 5 ปี
แนวเขตเวนคืนเท่าที่จำป็น
รายละเอียด
คำนึงถึงผลกระทบและความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ระยะเวลาเริ่มต้นเข้าสำรวจ
รายละเอียด
กำหนดเท่าที่จำเป็น แต่ไม่เกิน 180 วัน นับแต่ พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ
เจ้าหน้าที่เวนคืน
รายละเอียด
กระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือบุคคลอื่นใดผู้กระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืน
แผนที่หรือแผนผังแสดงแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน
รายละเอียด
กรมที่ดิน มท. ส่งสำเนาแผนที่ระวางที่ดินที่เกี่ยวข้องให้แก่เจ้าหน้าที่ตามที่ร้องขอ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ความเห็นของสำนักงบประมาณ
รายละเอียด
ให้ส่วนราชการที่เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาขอความเห็น สงป. ซึ่งมีหน้าที่จัดสรรเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 โดยการดำเนินการจะต้องสอดคล้องกับแผนการดำเนินการที่เจ้าหน้าที่ได้จัดทำ ระยะเวลาการใช้จ่ายเงินและตามกำลังเงินของแผ่นดิน โดยให้นำเงินนอกงบประมาณหรือเงินรายได้มาประกอบการพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ หาก สลค. เห็นว่าความเห็นดังกล่าวไม่เป็นปัจจุบัน สลค. อาจพิจารณาถามความเห็นไปยัง สงป. อีกครั้งหนึ่งก็ได้
การรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
รายละเอียด
การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สลค. จะตรวจสอบความครบถ้วนของเรื่องที่ส่วนราชการเสนอตามแนวทางปฏิบัติข้างต้นและพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ 2548 และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 หากส่วนราชการที่เสนอเรื่องดำเนินการไม่ครบถ้วน สลค. จะดำเนินการส่งเรื่องคืนเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องก่อนเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี
4.3 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการปฏิบัติตามข้อ 4.1 และ 4.2 และเห็นควรให้ สลค. เสนอแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กันยายน 2562