คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ดังนี้
1.1 อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 894,005.65 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 831,150.32 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ วงเงิน 398,372.55 ล้านบาท
1.2 อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย (รฟม.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิมภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่ง ดังกล่าว รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย
1.3 ให้กระทรวงคมนาคม (คค.) รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม
2. อนุมัติในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
2.1 อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2563 และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ
2.2 อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามผูกพันการกู้เงินและหรือการค้ำประกันเงินกู้ต่างประเทศจากแหล่งเงินกู้ทางการ และเอกสาร ที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะในการประชุม ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 มีมติเห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. แผนการก่อหนี้ใหม่และแผนการบริหารหนี้เดิม
หน่วย : ล้านบาท
รายการ / แผนฯ ปี 2562 ปรับปรุง ครั้งที่ 2
1. แผนการก่อหนี้ใหม่
1.1 รัฐบาล / 701,489.93
1.2 รัฐวิสาหกิจ / 87,249.37
รวม / 788,739.30
2. แผนการบริหารหนี้เดิม
2.1 รัฐบาล / 739,688.41
2.2 รัฐวิสาหกิจ / 137,722.26
รวม / 877,410.67
รวม 1 และ 2 / 1,666,149.97
รายการ / แผนฯ ปี 2563
1. แผนการก่อหนี้ใหม่
1.1 รัฐบาล / 748,879.11
1.2 รัฐวิสาหกิจ / 145,126.54
รวม / 894,005.65
2. แผนการบริหารหนี้เดิม
2.1 รัฐบาล / 601,416.65
2.2 รัฐวิสาหกิจ / 229,733.67
รวม / 831,150.32
รวม 1 และ 2 / 1,725,155.97
รายการ / เปลี่ยนแปลง (แผนฯ 63 – แผนฯ 62 ปรับปรุง ครั้งที่ 2)
1. แผนการก่อหนี้ใหม่
1.1 รัฐบาล / 47,389.18
1.2 รัฐวิสาหกิจ / 57,877.17
รวม / 105,266.35
2. แผนการบริหารหนี้เดิม
2.1 รัฐบาล / -138,271.76
2.2 รัฐวิสาหกิจ / 92,011.41
รวม / -46,260.35
รวม 1 และ 2 / 59,006.00
โดยการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2563 และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่มีการขยายเวลาเงินกู้ออกไปภายหลังจาก วันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี ส่วนของการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการกู้เงินเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้ต่อ เป็นโครงการใหม่ รวม 3 โครงการ ได้แก่
(1) โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย – กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี)
(2) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และ
(3) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช
2. แผนการชำระหนี้ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 309,118.39 ล้านบาท (การชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท และการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน จำนวน 219,947.99 ล้านบาท) และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่น ๆ วงเงิน 89,254.16 ล้านบาท เช่น แผนการชำระหนี้ในประเทศของรัฐบาลของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 32,977.84 ล้านบาท ทั้งนี้ แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2563 อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561
3. ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 ข้อ 12 กำหนดว่า ในการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ ให้กระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) พิจารณาหลักเกณฑ์การกู้เงินของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องมีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (DSCR) นับแต่มีการก่อหนี้ในอัตราไม่ต่ำกว่า 1 โดยหากมีความจำเป็นต้องกู้เงินแต่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ ให้รัฐวิสาหกิจนั้น เสนอเหตุผลความจำเป็น แนวทางการแก้ไขปัญหา และแผนการบริหารหนี้ที่ชัดเจนต่อ คณะกรรมการฯ เพื่อเสนอความเห็นประกอบการขออนุมัติการกู้เงินต่อคณะรัฐมนตรี โดยในแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2563 มีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 5 แห่ง ที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า ที่ต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งรัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่ง ดังกล่าว ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องกู้เงิน แนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งแผนการบริหารหนี้ที่ชัดเจนเสนอต่อคณะกรรมการฯ แล้ว และคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่ง สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิมภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยให้รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย
4. นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาการกู้เงินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 แล้ว เห็นว่า แม้ว่าบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังมี DSCR ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (1 เท่า) แต่มีการก่อหนี้ใหม่เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปเป็นจำนวนมาก ประกอบกับ ผลประกอบการในครึ่งปีแรกของปี 2562 ขาดทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงขอให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นประเด็นนี้ของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการ ตามความเหมาะสมต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กันยายน 2562