1. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านสื่อมวลชนอาเซียน – จีน (Joint Statement on Strengthening Media Exchanges and Cooperation between ASEAN and China)
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทวัญ ลิปตพัลลภ) ในฐานะรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนของไทย รับรองร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและร่วมมือด้านสื่อมวลชนอาเซียน – จีน แบบเวียน (Ad-referendum Endorsement) โดยกรมประชาสัมพันธ์จะประสานสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อแจ้งยืนยันการรับรองของไทยและเสนอผู้นำรับรองในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน ครั้งที่ 22 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพต่อไป
อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่างถ้อยแถลงร่วมฯ จากที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558
สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ เป็นการกำหนดให้ปี 2562 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนอาเซียน – จีน โดยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านกิจกรรมความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชนที่หลากหลายเพื่อมุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ดังนี้
1. ส่งเสริมการสื่อสารระหว่างรัฐบาลของอาเซียนและจีนเกี่ยวกับนโยบายและประเด็นด้านสื่อสารมวลชน
2. เสริมสร้างความร่วมมือด้านการรายงานข่าวและการผลิตข่าว ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออันเข้มแข็งระหว่างอาเซียนและจีน
3. ยกระดับความร่วมมือด้านการผลิตเนื้อหาสื่อ ส่งเสริมสื่อมวลชนของจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนในการร่วมผลิตภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ สารคดี และสื่อใหม่
4. ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการเผยแพร่ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพของจีนและอาเซียน ผ่านช่องทางที่เหมาะสมของทั้งสองฝ่าย
5. ส่งเสริมให้สื่อมวลชนจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่จัดขึ้นในจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน
6. เพิ่มพูนความร่วมมือในอุตสาหกรรมสื่อทางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสื่อ รวมถึงการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือ โดยเน้นความร่วมมือด้านดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูลและการเชื่อมโยงเครือข่าย
7. ส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอบรมด้านสื่อสารมวลชน โดยการแลกเปลี่ยนการเยือนและจัดการประชุมสัมมนาสำหรับสื่อมวลชนจากจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน
8. ดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านสื่อสารมวลชน ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน (รัฐมนตรีจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ บรูไนดารุซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) จะต้องให้การรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านสื่อมวลชนอาเซียน – จีน แบบเวียนเพื่อประกาศถ้อยแถลงร่วมดังกล่าวในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน – จีน ครั้งที่ 22 ในห้วงเดียวกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เดือนพฤศจิกายน 2562 ณ ประเทศไทย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ตุลาคม 2562