คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Joint Statement on Climate Change) สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (United Nations Framework Convention on Climate Change, the 25th Session of the Conference of the Parties: UNFCCC COP 25) [(ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ] พร้อมมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมเห็นชอบ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 และมอบหมายให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรอง (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ตามลำดับ รวมทั้งมอบหมายให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนประเทศไทยที่ได้รับมอบหมายนำเสนอ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ต่อที่ประชุม UNFCCC COP 25 ตามความเหมาะสมในฐานะที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2562 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่างฯ จากที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558
[(ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในวันที่ 7 – 10 ตุลาคม 2562]
(ร่าง) แถลงการณ์อาเซียนฯ มีสาระสำคัญในการแสดงจุดยืนร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ดังนี้
1. เน้นย้ำความมุ่งมั่นของรัฐภาคีต่อกรอบสัญญาฯ ภายใต้การดำเนินการที่ผ่านมาในด้านต่าง ๆ ของภูมิภาคอาเซียน
2. เน้นย้ำผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐภาคีสนับสนุนวิทยาศาสตร์และกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. ยินดีต่อข้อตัดสินใจที่รับรองในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 24 และที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 1 ที่เมืองคาโตวิเซ สาธารณรัฐโปแลนด์ และเรียกร้องให้เร่งดำเนินการเพื่อหาข้อยุติในการเจรจาในประเด็นต่าง ๆ เช่น กรอบระยะเวลาของ NDCs
4. ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับการดำเนินงานก่อนปี 2563 และข้อกำหนดกลไกการดำเนินงานของรัฐภาคีประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาคีประเทศที่พัฒนาแล้วเติมเต็มความมุ่งมั่นด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เติมเต็มและยกระดับความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนทางการเงินจำนวนหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและรัฐภาคีประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ และให้สัตยาบันต่อข้อตกลงโดฮาของพิธีสารเกียวโต
5. เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเสริมสร้างการสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนและรัฐภาคีประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐภาคีดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือด้านการเกษตรโคโรนีเวีย
6. เน้นย้ำความจำเป็นของการสนับสนุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนด้านการพัฒนาและถ่ายทอดทางเทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพต่อประเทศสมาชิกอาเซียนและรัฐภาคีประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ตุลาคม 2562