ขออนุมัติการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562

ข่าวการเมือง Tuesday October 15, 2019 17:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 จำนวน 5 โครงการ ภายในกรอบวงเงิน 3,120.8618 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,967.5000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องที่ได้รับเงินจัดสรรไว้แล้ว จำนวน 152.3118 ล้านบาท และเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 1.050 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 จำนวน 5 โครงการ รวมกรอบวงเงิน จำนวน 3,120.8618 ล้านบาท

หลักการ

1. เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตามแผนปฏิบัติการฯ ต้องเป็นเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง/ฝนแล้งหรืออุทกภัย ปี 2562 ที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิง และได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562

2. การช่วยเหลือตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา ฯ เป็นการเยียวยาเพิ่มเติมจากระเบียบกระทรวงการคลังฯ เนื่องจากเหตุที่มาของปัญหาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นพิเศษ เฉพาะห้วงเวลา คือ เกษตรกรประสบปัญหาทั้งภัยฝนทิ้งช่วงและปัญหาอุทกภัยติดต่อกัน ทำให้ขาดโอกาสในการสร้างรายได้ ดังนั้น การฟื้นฟู เยียวยา ผู้ประสบภัยต่อเนื่อง ให้ผ่านพ้นและสามารถฟื้นฟูอาชีพการเกษตรได้ตามปกติโดยเร็ว

3. แผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา ฯ ต้องมีการเชื่อมโยงตลาดระหว่างแหล่งผลิตกับแหล่งรับซื้อผลผลิตให้มีความชัดเจน โดยพิจารณาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการผลิตที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ รวมทั้ง ให้คำแนะนำทางวิชาการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีศักยภาพในการปรับตัว รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างใหม่ที่ดีกว่าเดิม

วัตถุประสงค์

เพื่อสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 ให้สามารถทำการผลิตได้ทันทีหลังน้ำลด เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย ให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้และผลผลิตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะเวลาอันสั้น

เป้าหมาย

เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง/ฝนแล้ง และอุทกภัยเนื่องจากพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” ที่เสียหายสิ้นเชิงและได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สามารถดำรงชีวิตผ่านพ้นสถานการณ์ภัยพิบัติและมีศักยภาพที่เพียงพอต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แผนปฏิบัติการฟื้นฟู 3,120.8618 ล้านบาท ดังนี้

1) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ถั่วเขียว) หน่วยงานรับผิดชอบ กรมส่งเสริมการเกษตร มีเป้าหมาย เกษตรกร จำนวน 150,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.4 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ดำเนินการต้องมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยสนับสนุนเป็นเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของเกษตรกร เพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ ซึ่งให้ความช่วยเหลือ ตามพื้นที่ปลูกจริง รายละไม่เกิน 20 ไร่ จำนวน 374.5248 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกร 100,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.0 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 245 บาท
  • ถั่วเขียว เกษตรกร 50,000 ครัวเรือน พื้นที่ 0.4 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 200 บาท

2) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี 2563/64 หน่วยงานรับผิดชอบ กรมการข้าว มีเป้าหมาย เกษตรกร จำนวน 827,000 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ตัน พื้นที่ 6.32 ล้านไร่ โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกร ไร่ละ 10 กิโลกรัม ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ จำนวน 1,739.4290 ล้านบาท ทั้งนี้ จะจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวกลุ่มไม่ไวแสง ช่วงเดือนกลางเดือนพ.ย. – กลางเดือน ธ.ค. 2562 สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลุ่ม ไวแสง จะจัดส่ง ช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 2563

3) โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง : การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน หน่วยงานรับผิดชอบ กรมประมง มีเป้าหมาย เกษตรกร จำนวน 50,000 ราย พื้นที่ 50,000 ไร่ โดยสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร (เกษตรกรได้รับพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ รายละ 800 ตัว พร้อมอาหารสัตว์น้ำนำร่อง จำนวน 120 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า รายละ 5,000 บาท) จำนวน 260.000 ล้านบาท ซึ่งการเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยพันธุ์ปลานิลแปลงเพศที่สนับสนุนจะมีขนาดใหญ่ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น

4) โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน หน่วยงานรับผิดชอบ กรมประมง มีเป้าหมาย แหล่งน้ำในชุมชน จำนวน 1,436 แห่ง ในพื้นที่ 129 อำเภอ โดยปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ (กุ้งก้ามกราม) ในแหล่งน้ำชุมชนขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำแบบปิด โดยสนับสนุนลูกพันธุ์กุ้งก้ามกรามขนาดตั้งแต่ 5 – 7 เซนติเมตรขึ้นไป จำนวน 200,000 ตัวต่อแหล่งน้ำ จำนวน 506.9080 ล้านบาท ทั้งนี้ การเลี้ยงกุ้มก้ามกราม ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีศักยภาพในการให้ผลตอบแทนที่รวดเร็ว เป็นอาชีพเสริมที่ดีที่ให้ผลตอบแทนสูง

5) โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย หน่วยงานรับผิดชอบ กรมปศุสัตว์ มีเป้าหมาย เกษตร 48,000 ครัวเรือน โดยสนับสนุนเป็นเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของเกษตรกร เพื่อซื้อพันธุ์ไก่ไข่ เป็ดไข่ ครัวเรือนละ 10 ตัว ไก่พื้นเมืองคละเพศ ครัวเรือนละ 30 ตัว พร้อมค่าอาหารและค่าวัสดุในการเลี้ยง คิดเป็นมูลค่า รายละ 4,850 บาท จำนวน 240.000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ตุลาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ