1. รับทราบสรุปผลการประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563
2. มอบหมาย ทส. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในการประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562
สาระสำคัญของเรื่อง
1. พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อน นอกจากนี้ปัญหาหมอกควันยังส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงบดบังทัศนวิสัยการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศ ซึ่งพบว่ามีการยกเลิกและ เลื่อนเที่ยวบินเนื่องจากทัศนวิสัยต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัย จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานจะต้องเตรียมความพร้อมใน การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563
2. ทส. ได้จัดประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานในการมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง ทส. มท. กระทรวงสาธารณสุข กห. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คค. กษ. สำนักนายกรัฐมนตรี จังหวัด 9 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน และตาก) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ปล่อยขบวนคาราวานบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 31 หน่วยงาน และภาคประชาชน จำนวนรวม 1,500 คน เพื่อเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติการต้านการเผาและลดหมอกควันในปี 2563 โดยมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับประชาชน ให้ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการลดและเลิกการเผา และช่วยสนับสนุนการเฝ้าระวังการเกิดไฟและหมอกควัน หนุนเสริมการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้มอบนโยบายการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
หน่วยงานรับผิดชอบ / รายละเอียด
ทส.
- ลดจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ป่าให้เป็นศูนย์ ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
- ระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์ เครื่องมือจากนอกพื้นที่มาเสริมการลาดตระเวน เฝ้าระวังและดับไฟป่า ไม่ให้เกิดการลุกลามของไฟจนไม่สามารถควบคุมได้
- เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 1 ล้านบาทต่อจังหวัด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันปัญหาหมอกควันภาคเหนือของ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9 ล้านบาท
- ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับประเทศในอุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการป้องกันและ แก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามกลไกอาเซียนภายใต้ข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างจริงจัง
มท.
- อำนวยการสั่งการ (Single command) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามสถานการณ์และบูรณาการสั่งการป้องกันและควบคุมการเผาในจังหวัดอย่างเคร่งครัด หากพบค่าฝุ่นละออง สูงเกินมาตรฐานให้ประกาศห้ามเผาโดยทันที
- จัดระเบียบการเผาอย่างเป็นระบบ ให้ทยอยเผาในปริมาณที่ฝุ่นละอองไม่เกินมาตรฐาน
- สั่งการไปถึงระดับตำบล โดยเฉพาะตำบลที่เสี่ยงเผาซ้ำซาก ให้นายอำเภอองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ดูแลอย่างใกล้ชิด
กห.
- สนับสนุนการลาดตระเวนและดับไฟทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศอย่างเต็มที่
- หารือในกรอบความร่วมมือของคณะกรรมการชายแดนเพื่อให้ความร่วมมือ และกำชับให้ควบคุมการเผาบริเวณชายแดนอย่างเคร่งครัด
คค.
- กวดขันไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ริมทางหลวงโดยเด็ดขาด
กษ.
- เร่งเปลี่ยนพื้นที่เกษตรทั้งหมดใน 9 จังหวัดภาคเหนือไปสู่การเป็นเกษตรปลอดการเผาภายใน 3 ปี
- กำกับให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์งดสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรที่มาจากการบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด
- เตรียมความพร้อมการทำฝนหลวงในช่วงวิกฤตหมอกควัน
ทุกหน่วยงาน
สร้างความเป็นเอกภาพของข้อมูลเพื่อการสั่งการที่ถูกต้องและลดความตื่นตระหนกของประชาชน โดยดำเนินการ ดังนี้
- เผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อน พื้นที่เกิดไฟไหม้ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และข้อมูลคุณภาพอากาศ จากกรมควบคุมมลพิษ
- ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเชิงวิชาการที่ถูกต้องกับประชาชน โดยปรับรูปแบบการรายงานข้อมูล และสถานการณ์ให้น่าสนใจและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงต้องเป็นชุดข้อมูลเดียวกันไม่ให้เกิดความสับสน
- สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการดำเนินงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และให้ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น
- ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้าน ฝุ่นละออง” อย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ตุลาคม 2562