คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 28/7 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. เป้าหมายนโยบายการเงิน
กนง. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5 ? 1.5 ซึ่งเป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 2562 ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาเป็นเป้าหมายหลักควบคู่กับ การดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ
2. การประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินและแนวโน้ม
2.1 ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้ม
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ลดลงจาก ช่วงครึ่งหลังปี 2561 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 โดยสาเหตุมาจากการส่งออกสินค้าและบริการหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญและปริมาณการค้าโลกและจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและรายจ่ายของนักท่องเที่ยวที่ลดลง อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียไม่รวมจีนยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยกำลังซื้อของครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากภาครัฐ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงเนื่องจากแนวโน้มการส่งออกและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐโดยรวมขยายตัวและมีส่วนช่วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 3.3 และในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 โดยประเมินจากปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนเติบโตชะลอลงจากปีก่อนตามแนวโน้มการส่งออกสินค้าและความเชื่อมั่นในระยะข้างหน้าที่ปรับลดลง ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีส่วนช่วยเศรษฐกิจลดลงจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ล่าช้า
2.2 ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้ม
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ลดลงจากปีก่อนที่ ร้อยละ 1.1 โดยสาเหตุเกิดจากราคาพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ลดลงจากปีก่อนที่ร้อยละ 0.7 โดยสาเหตุเกิดจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลุ่มอาหารที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลุ่มที่ไม่ใช่อาหารปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จากผลสำรวจผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระยะสั้นอาจปรับสูงขึ้น
การคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 และ 2563 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 เท่ากัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2562 และ 2563 คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มต่ำกว่าในอดีต สาเหตุเกิดจากการขยายตัวของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่ทำให้การแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ตลอดจนการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่อาจทำให้การบริโภคชะลอลง
2.3 เสถียรภาพระบบการเงิน
สถาบันการเงินมีฐานะการเงินที่เข้มแข็งสะท้อนจากเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับสูง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินสำรองสำหรับรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อร้อยละ 195.0 ของเงินสำรองพึงกันและมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ร้อยละ 18.2 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดที่ร้อยละ 11 โดยเกณฑ์ดังกล่าวได้รวมอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต (Conservation Buffer) แล้ว รวมถึงธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนในระดับสูงเช่นกัน สำหรับเสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยเข้มแข็งและอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี กนง. และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ได้ติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบทางการเงินใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสินเชื่อหมวดรถยนต์และที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น (2) ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่เกณฑ์มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) มีผลบังคับใช้ จำนวนบัญชีสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ปรับลดลงและมีความเสี่ยงจากอุปทานคงค้างยังมีอยู่ เนื่องจากอุปสงค์ต่างชาติโดยเฉพาะจีนมีสัญญาณชะลอลง และ (3) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นที่มีอยู่ต่อเนื่องในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานและอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร โดยเฉพาะสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบมากขึ้น
3. การดำเนินนโยบายการเงิน
กนง. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายการเงิน 4 ด้าน ได้แก่ (1) อัตราดอกเบี้ย (2) อัตราแลกเปลี่ยน (3) การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน และ (4) การสื่อสารนโยบายการเงิน สรุปได้ ดังนี้
ด้าน - การดำเนินการ
(1) อัตราดอกเบี้ย
กนง. ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สนับสนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน
(2) อัตราแลกเปลี่ยน
กนง. ได้ติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไปจนกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร และให้ ธปท. เตรียมมาตรการต่าง ๆ สำหรับดูแลการไหลเข้าของเงินทุนในระยะสั้น รวมถึงผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายด้านขาออกอย่างต่อเนื่อง
(3) การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
กนง. ได้ประเมินและสนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ได้แก่ (1) ออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน รวมถึงร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการศึกษาและจัดทำแนวนโยบายการให้สินเชื่ออย่างเหมาะสม และกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณภาระผ่อนชำระหนี้เทียบกับรายได้ (2) ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยลดการสะสมความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ (3) กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อเร่งผลักดันเกณฑ์การกำกับดูแลที่สำคัญ เช่น ด้านเครดิต สภาพคล่อง และการก่อหนี้ของลูกหนี้ ให้ออกบังคับใช้โดยเร็ว รวมถึงดูแลความเสี่ยงเชิงระบบเพิ่มเติมในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่บางกลุ่มที่ระดมทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ
(4) การสื่อสารนโยบายการเงิน
กนง. ใช้วิธีการจัดประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) เพื่อนำเสนอแนวโน้มเศรษฐกิจและแนวนโยบายการเงิน โดยมีประธานและรองประธาน กนง. ให้ความเห็นและตอบคำถามของนักวิเคราะห์ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของ ธปท.
4. ประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่ กนง. ให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงิน
การให้ความยืดหยุ่นกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ เช่น มองเป้าหมายในระยะปานกลางและมองไปข้างหน้า (Forward-looking) มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นโยบายการเงินสามารถให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านอื่น ๆ ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินได้มากขึ้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ตุลาคม 2562