1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และ การพิจารณาตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. ....
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นรวมทั้ง สิทธิการดำเนินการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการไต่สวนการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน และการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน พ.ศ. ....
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาเหตุอันควรหรือเหตุผล ทางเศรษฐกิจ การบั่นทอนผลการใช้บังคับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน และหลักฐานการทุ่มตลาดหรือการได้รับการอุดหนุน พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
1) ร่างกฎกระทรวงตามข้อ 1.
1.1) ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติ การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542
1.2) กำหนดให้เมื่อคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนมีคำวินิจฉัยในเรื่องต่าง ๆ เช่น คำวินิจฉัยให้ใช้มาตรการชั่วคราว คำวินิจฉัยให้เรียกเก็บหรือไม่ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน หรือให้ยุติหรือเปลี่ยนแปลงการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน คำวินิจฉัยเกี่ยวกับการยอมรับข้อเสนอทำความตกลงเพื่อระงับการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ให้กรมการค้าต่างประเทศออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศ แสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ใช้เป็นพื้นฐานการพิจารณาผลการไต่สวน และกำหนดรายละเอียดที่ต้องปรากฏในประกาศกรมฯ สำหรับคำวินิจฉัยแต่ละประเภท
1.3) กำหนดให้การแสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต้องไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 (ข้อมูลข่าวสารที่มีสาระและเนื้อหาหรือผู้ให้ข้อมูลข่าวสารนั้นขอให้ปกปิด)
1.4) ให้กรมการค้าต่างประเทศจัดส่งประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
2) ร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2.
2.1) ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติ การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542
2.2) กำหนดให้การเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย ไต่สวนการอุดหนุนและความเสียหาย หรือไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
2.3) กำหนดให้ในระหว่างการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย ไต่สวนการอุดหนุนและความเสียหาย หรือการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้ให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีสิทธิดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ร้องขอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง นำเสนอข้อมูลอื่นนอกเหนือจากข้อมูลที่ได้เสนอไว้แล้วในการประชุมร่วมกันด้วยวาจา ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นได้
2.4) ให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการให้ตามที่มีการร้องขอโดยคำนึงถึงความจำเป็นในการรักษาความลับและความสะดวกของทุกฝ่าย
2.5) กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะไม่เข้าร่วมประชุมก็ได้ และการไม่เข้าร่วมประชุมนั้นไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้นั้นในการไต่สวน
2.6) กำหนดให้ความคิดเห็นและข้อโต้แย้งและข้อมูลที่เสนอเพิ่มเติมของผู้ร้องขอให้มี การประชุมร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำมาใช้ในการไต่สวนได้ เมื่อผู้นำเสนอข้อมูลได้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและส่งให้กรมการค้าต่างประเทศภายในระยะเวลาที่กำหนด และจัดไว้ให้ผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายอื่นแล้ว
3) ร่างกฎกระทรวงตามข้อ 3.
3.1) กำหนดให้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนให้พิจารณา เหตุอันควรหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยให้พิจารณาจากความคุ้มค่าทางธุรกิจในการดำเนินการ หรือ การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาจากปัจจัยอื่นเพิ่มเติมตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นรายกรณีก็ได้
3.2) กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้ที่มีผลเป็นการบั่นทอนผลการใช้บังคับมาตรการตอบโต้ในด้านของราคาหรือปริมาณ โดยให้อาศัยหลักฐานสนับสนุนและตรวจสอบข้อมูล
3.3) กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาหลักฐานการทุ่มตลาดกรณีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
3.4) กำหนดให้การพิจารณาหลักฐานการได้รับการอุดหนุนกรณีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การอุดหนุน ให้ผู้ผลิตในต่างประเทศหรือผู้ส่งออกจากต่างประเทศหรือผู้ประกอบสินค้าที่ถูกกล่าวหาว่า หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้เป็นผู้พิสูจน์ว่า การได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้สิ้นสุดลงแล้ว หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ให้ถือว่ามีหลักฐานการได้รับการอุดหนุน
3.5) กำหนดให้การพิจารณาองค์ประกอบของการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนให้ใช้ข้อมูลย้อนหลังได้ไม่เกินกว่า 3 ปี ก่อนวันประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนครั้งแรก
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562