รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ข่าวการเมือง Tuesday November 19, 2019 17:39 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรับทราบต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. รายงานว่า ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 พร้อมทั้งได้ประมวลแนวทางในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างควบคุมตัวเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้

ข้อเสนอแนะ กสม.

1. ครม. ควรสร้างกลไกภายในประเทศเพื่อประกันสิทธิของบุคคลตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นโดย ครม. ควรเร่งรัดการจัดทำร่างกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เสนอต่อรัฐสภาพิจารณา

สรุปผลการพิจารณา

1. ยธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้หมดวาระลง จึงทำให้ไม่สามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาอยู่ในชั้นรัฐสภา ต่อมาเมื่อมีการแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ยธ. ได้ยืนยันร่างพระราชบัญญัติฯ แก่ ครม. แล้ว และ ครม. ได้เสนอไปยังประธานรัฐสภาด้วยแล้ว

ข้อเสนอแนะ กสม.

2. ให้ ยธ. เร่งกำหนดมาตรการป้องกันการถูกกระทำทรมาน

สรุปผลการพิจารณา

2. ยธ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญตามคำสั่ง นร ที่ 131/60 ลว. 23 พ.ค. 60 และคำสั่ง นร ที่ 198/60 ลว. 18 ส.ค. 60 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรการป้องกัน การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การติดตามตรวจสอบกรณีต่าง ๆ และการเยียวยาผู้เสียหาย จากการถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญและได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 4 คณะ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีการกระทำทรมานแล้วเสร็จ จำนวน 53 ราย ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำทรมานตามที่กล่าวอ้าง สำหรับกรณีการติดตามตรวจสอบตามบัญชีรายชื่อบุคคลหายสาบสูญของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ จำนวน 86 รายนั้น คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูล พร้อมทั้งได้ส่งข้อมูลไปยังคณะทำงานสหประชาชาติฯ แล้วจำนวน 11 ราย ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการถูกบังคับให้หายสาบสูญ สำหรับอีก 75 ราย อยู่ระหว่างเร่งรัดรวบรวมข้อมูลและจัดทำคำแปลเพื่อส่งไปยังคณะทำงานฯ ต่อไป เมื่อรัฐบาลได้หมดวาระลงและพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีส่งผลให้คำสั่ง นร ที่ 131/60 และคำสั่ง นร ที่ 198/60 สิ้นสภาพ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ยธ. จะได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดพิจารณาลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ในโอกาสต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ