คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีโคราชสมัครเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) โดยส่งใบสมัครในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2562 และมอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
[ขั้นตอนการสมัครเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกกำหนดให้ผู้สมัครเสนอเอกสารประกอบการสมัครผ่านคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2562]
รายละเอียดของอุทยานธรณีโคราช สรุปดังนี้ ข้อมูลทั่วไป : อุทยานธรณีโคราชครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา เฉลิมพระเกียรติ ขามทะเลสอ สูงเนิน และสีคิ้ว รวมเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 3,167 ตารางกิโลเมตร ความเหมาะสมในการเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก : มีแหล่งธรณีวิทยา แหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรมในพื้นที่อุทยานธรณีโคราชจำนวน 35 แหล่ง ในจำนวนนี้เป็นแหล่งธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติจำนวน 4 แหล่ง คือ 1) แหล่งอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินสมัยไพลสโตซีนตอนต้นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายของชนิดและสีสัน 2) แหล่งไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลก 3 สกุล และ 3 ชนิด รวมทั้งเต่าทะเลและจระเข้พันธุ์ใหม่ 1 สกุล 2 ชนิด 3) แหล่งฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์มากที่สุดในโลกที่พบถึง 10 สกุล จาก 55 สกุลที่พบทั่วโลก 4) แหล่งฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอายุ 200,000 ปีที่มีความหลากหลายชนิดที่สุด (15 ชนิด) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้อุทยานธรณีโคราชยังมีลักษณะภูมิประเทศเควสตา (Cuesta) หรือรูปอีโต้ที่มีการยกตัวของที่ราบสูงโคราช โดยเส้นทางเขาเควสตามีระยะทาง 60 กิโลเมตร (ตั้งแต่จุดชมวิวเขายายเที่ยง-ปราสาทหินพนมวัน) โดยมีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ความพร้อมของพื้นที่ : อุทยานธรณีโคราชมีสถานะเป็นอุทยานธรณีประเทศไทย และคณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้ยื่นความจำนงและใบสมัคร เนื่องจากมีความพร้อมในการเสนอเพื่อรับรองให้เป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกทั้งในด้านวิชาการธรณีวิทยา ด้านศักยภาพ และองค์ประกอบตามที่ยูเนสโกกำหนด ประกอบกับการประเมินตนเองตามแนวทางของยูเนสโกของอุทยานธรณีโคราชได้ผ่านเกณฑ์กำหนดแล้ว โดยมีผลการประเมิน ร้อยละ 84
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอให้อุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก(UNESCO Global Geoparks) ตามความต้องการของจังหวัดนครราชสีมา และ ให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต่อ สำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยส่งใบสมัครในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2562 ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจะต้องชำระค่าสมาชิกปีละ 1,500 ยูโร หรือประมาณ 56,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการประเมินอุทยานธรณีโคราชในภาคสนามและค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลกและเครือข่ายอุทยานธรณีในระดับภูมิภาคเชียแปซิฟิกด้วย
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ให้ ทส. รับเรื่องนี้ไปพิจารณาว่า การเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) จะมีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณดังกล่าวในอนาคตหรือไม่ ทั้งนี้ ทส. ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัดนครราชสีมาและคณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณีพิจารณาทบทวนการเสนอให้อุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก สรุปได้ว่า การเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ไม่มีผลกระทบหรือก่อให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าใช้ประโยชน์ บริหารจัดการหรือดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวในอนาคตต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนเจ้าของพื้นที่
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562