เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ
1. เห็นชอบ 1) ร่างกฎกระทรวงการมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง พ.ศ. …. 2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองและการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง พ.ศ. …. และ 3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกำหนดค่าปรับบังคับการ พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ที่ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
2. รับทราบรายงานเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินการร่างกฎกระทรวง รวม 5 ฉบับ ไม่ทันเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการบังคับทางปกครองให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ดังนี้
ชื่อร่างกฎกระทรวงฯ - สาระสำคัญ
สาระสำคัญ
1. กำหนดให้กรณีที่ กม. ใดไม่ได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้โดยเฉพาะ การมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินให้เป็นไปตามที่กำหนดในร่างกฎกระทรวงนี้
2. การพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงไม่ควรให้มีการมอบอำนาจไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับล่างโดยไม่จำกัดตำแหน่ง รวมทั้งไม่ได้กำหนดให้การมอบอำนาจจากราชการส่วนกลางไปราชการส่วนภูมิภาคต้องมอบให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่กำหนดให้เป็นดุลพินิจของผู้มอบอำนาจที่จะพิจารณาได้ตามความเหมาะสม สำหรับการมอบอำนาจในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ และสภาวิชาชีพ ให้เป็นไปตาม กม. จัดตั้งหน่วยงานนั้น
3. กำหนดให้การมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ ให้ดำเนินการดังนี้
3.1 กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามร่างข้อ 1 ให้นำหลักเกณฑ์การมอบอำนาจในการพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองร่างข้อ 1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
3.2 กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้ดำรงตำแหน่งตามร่างข้อ 1 เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะต้องพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองนั้นเอง โดยไม่สามารถมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่อื่นได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเห็นว่า การพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองอาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองเกินสมควรและจำเป็นต้องพิจารณาโดยรอบคอบ ให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นเสนอเรื่องต่อหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อพิจารณามอบหมายให้เจ้าหน้าที่อื่นเป็นผู้พิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองแทนได้ตามที่เห็นสมควร
4. กำหนดให้การมอบอำนาจให้ทำเป็นหนังสือ
สาระสำคัญ
1. กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐเป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น เว้นแต่กรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นสภาวิชาชีพ คกก. ตาม กม. หรือเอกชน ซึ่งได้รับอนุญาตได้รับแต่งตั้ง หรือได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ ให้นายกสภาวิชาชีพหัวหน้าหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นหน่วยธุรการของ คกก. หรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอนุญาตแต่งตั้งหรือมอบหมายเอกชนให้ออกคำสั่งทางปกครอง สำหรับกรณีที่รัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองเป็นผู้ทำคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินให้รัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง
2. กำหนดให้ผู้มีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาซึ่งผ่านการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดีหรือด้านการบังคับทางปกครองตามหลักสูตรที่ คกก. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้ความเห็นชอบเป็นเจ้าพนักงาน (จพน.) บังคับทางปกครอง และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการบังคับทางปกครองที่อาจต้องดำเนินการโดย จพน. บังคับทางปกครองหลายราย จึงกำหนดให้ในการดำเนินการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองอาจมอบหมายให้ จพน. บังคับทางปกครองหนึ่งคนหรือหลายคนร่วมเป็น จพน. บังคับทางปกครองก็ได้ อย่างไรก็ดี โดยที่การดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินจำเป็นต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน กม. จึงกำหนดให้ จพน. บังคับทางปกครองอย่างน้อยหนึ่งคนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ และกำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือนายกสภาวิชาชีพ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ออกบัตรประจำตัว จพน. บังคับทางปกครอง โดยให้นำแบบบัตรและหลักเกณฑ์ในการออกบัตรตาม กม. ว่าด้วยบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐมาบังคับใช้โดยอนุโลม
3. กำหนดให้กรณีที่มีบท กม. ใดกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครอง หรือหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง จพน. บังคับทางปกครองไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ใช้บังคับตาม กม. ว่าด้วยการนั้น เว้นแต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าการใช้หลักเกณฑ์ตาม กม. ว่าด้วยการนั้นจะเกิดผลน้อยกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้หลักเกณฑ์ตาม กม. นี้แทนก็ได้
4. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการดำเนินการบังคับทางปกครอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินได้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
4.1 กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับบรรดาคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยวิธีการยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้อยู่ภายใต้บังคับของคำสั่งทางปกครอง ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้ถือว่าเป็นคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎกระทรวงนี้ และให้ดำเนินการยึดหรืออายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
4.2 กำหนดให้ผู้มีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองจะแต่งตั้งผู้ซึ่งไม่ผ่านการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดี หรือด้านการบังคับทางปกครองตามหลักสูตรที่ คกก. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเห็นชอบก็ได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ เพื่อรองรับกรณีที่ยังไม่มีผู้ผ่านการอบรมที่จะดำเนินการบังคับคดีได้ และจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว
สาระสำคัญ
1. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองมีอำนาจกำหนดค่าปรับบังคับการ และให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐผู้มอบอำนาจหรือผู้กำกับดูแลเอกชนมีอำนาจกำหนดค่าปรับบังคับการกรณีที่เอกชนเป็นผู้ใช้อำนาจผู้ทำคำสั่งทางปกครอง
2. กำหนดอัตราสูงสุดของจำนวนค่าปรับบังคับการที่เจ้าหน้าที่ในแต่ละลำดับมีอำนาจกำหนดได้ โดยให้เป็นจำนวนเต็มหลักหมื่น เพื่อความสะดวกในการใช้บังคับ
3. กำหนดให้ในกรณีที่ไม่มีการชำระค่าปรับบังคับการให้เจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองชำระค่าปรับบังคับการทุก 15 วัน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562