คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation Agreement: CMIM) ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. ....) โดยอนุมัติการลงนามในความตกลง CMIM ฉบับปรุงปรุง และมอบหมายให้ (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทน และผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ลงนามในความตกลง CMIM ฉบับปรับปรุง (2) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ลงนามในหนังสือยืนยันการสมทบเงิน (Schedule 3 – Commitment Letter) ในวงเงิน 9.104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทน ลงนามในหนังสือรับทราบการขอรับความช่วยเหลือ (Schedule 5 – Letter of Acknowledgement) และหนังสือยืนยันการปฏิบัติตามเงื่อนไขของความตกลง (Schedule 6 – Letter of Undertaking) เมื่อประเทศไทยขอรับความช่วยเหลือภายใต้ความตกลง CMIM ฉบับปรับปรุง (4) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน ลงนามในหนังสือให้ความเห็นทางกฎหมาย (Schedule 7 – Legal Opinion) เมื่อประเทศไทยขอรับความช่วยเหลือภายใต้ความตกลง CMIM ฉบับปรับปรุง ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation Agreement: CMIM) ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. ....) รวมถึงหนังสือแนบท้าย 4 ฉบับ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนการดำเนินการของกลไก CMIM ตามนัยบทบัญญัติของความตกลงฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องมีการทบทวนทุก ๆ 5 ปี โดยในครั้งนี้เป็นการปรับปรุงแนวปฏิบัติของ CMIM กรณีที่เป็นความช่วยเหลือทางการเงินร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ IMF เช่น การปรับปรุงระยะเวลาการเบิกจ่ายและการชำระคืนเงินช่วยเหลือ จากเดิมที่เบิกจ่ายเงินและรับเงินคืนเต็มจำนวนเมื่อถึงกำหนดไถ่ถอน (Maturity) เพียงครั้งเดียวภายใน 1 ปี เป็นให้เบิกจ่ายเงินและรับเงินคืนเป็นงวด ๆ และขยายจำนวนครั้งในการต่ออายุความช่วยเหลือ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินและการขาดสภาพคล่องของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระยะสั้นและต้องการรับความช่วยเหลือจากกลไกดังกล่าว จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและทันการณ์ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงถ้อยคำที่มีความคลุมเครือในทางปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน + 3 ครั้งที่ 22 มีมติอนุมัติร่างความตกลง CMIM ฉบับปรุรับปรุงดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ร่างความตกลง CMIM ฉบับนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของวงเงิน ความช่วยเหลือของไทย จำนวน 9.104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและตั้งแต่จัดตั้งมา กลไก CMIM ยังไม่มีการให้ ความช่วยเหลือทางการเงิน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562