คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบร่างปฏิญญาเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของสตรี : การทบทวนแผนปฏิบัติการปักกิ่ง +25 โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมรับรองร่างปฏิญญาเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของสตรี : การทบทวนแผนปฏิบัติการปักกิ่ง+25 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไข ร่างปฏิญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ
1. ร่างปฏิญญาเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของสตรี : การทบทวนแผนปฏิบัติการปักกิ่ง + 25 เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศภาคีสมาชิกในเอเชียและแปซิฟิกที่จะระดมความพยายามในการบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ การเสริมพลังสตรีและสิทธิมนุษยชนสตรีเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมกัน การระลึกถึงบทบาทที่สำคัญของสตรีในการเป็นผู้นำการพัฒนา การรับทราบถึงความก้าวหน้าด้านความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การสังเกตถึงแนวโน้มหรือทิศทางปัญหาสำคัญๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ส่งผลกระทบต่อสตรีและเด็กผู้หญิง การแสดงความห่วงใยถึงปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคในการบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 5 และเป้าหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการเน้นย้ำความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศต่างๆ รวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากร โอกาส ข่าวสารและบริการที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้น
2. ร่างปฏิญญาเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของสตรี: การทบทวนแผนปฏิบัติการปักกิ่ง + 25 เป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานของแต่ละประเทศในเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้ตะหนักถึงสิทธิที่เท่าเทียมของสตรี เพื่ออนาคตที่เท่าเทียมกันภายในปี 2573 ( ค.ศ.2030 )ผ่านการดำเนินการซึ่งครอบคลุมประเด็นดังนี้ 1)การพัฒนาที่เท่าเทียมและครอบคลุม แบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองและงานที่มีคุณค่า 2) การขจัดความยากจน การปกป้องคุ้มครองทางสังคมและบริการทางสังคมและสาธารณะ 3) การปราศจากความรุนแรง การตีตรา ทัศนคติของการเหมารวมและบรรทัดฐานทางสังคมเชิงลบ 4) การมีส่วนร่วม การเจรจาทางสังคม หน้าที่รับผิดชอบ และสถาบันที่มีการตอบสนองต่อมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ 5) สังคมที่มีสันติภาพและ มีส่วนร่วม 6) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวฟื้นคืนสู่สภาวะปกติ 7) ข้อมูลและสถิติ และ 8) พันธมิตรและความร่วมมือระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม Asia –Pacific Ministerial Conference on the Beijing+25 Review ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และการเสริมพลังของสตรี: การทบทวนแผนปฏิบัติการปักกิ่ง + 25
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562