คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ลักษณะของสถานที่ และเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ที่จำเป็นประจำสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. กำหนดให้ที่ตั้งของสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ต้องสะอาด ปราศจากสิ่งรกรุงรัง หรือแหล่งสะสมของขยะ เชื้อโรค สัตว์พาหะ ฝุ่นละออง และมลพิษ หากที่ตั้งของสถานที่ดำเนินการเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ ไม่มีเส้นทางการคมนาคม ไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคที่จำเป็นได้ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด เป็นพื้นที่ใกล้กับแหล่งที่มาของเชื้อโรค มลพิษ เสียง ความสั่นสะเทือน หรือมีลักษณะอื่นใดที่อาจทำให้ไม่เหมาะสมต่อการดำเนินการ ให้ผู้รับผิดชอบสถานที่ดำเนินการชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการตั้งสถานที่ดำเนินการนั้น พร้อมแผนหรือมาตรการจัดการ
2. กำหนดให้สถานที่ดำเนินการต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับ (1) ลักษณะงานทางวิทยาศาสตร์ (2) ประเภท ชนิด สายพันธุ์ จำนวน และพฤติกรรมของสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (3) วิธีการเลี้ยงหรือระบบการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (4) การป้องกันการติดเชื้อ การควบคุมสภาพแวดล้อม การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค สารพิษ มลพิษ จากการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และ (5) เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
3. กำหนดให้สถานที่ดำเนินการสำหรับสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประเภทสัตว์ทดลองต้องมีระบบการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ระบบอนามัยเข้ม (Strict Hygienic Conventional System) ระบบปลอดเชื้อก่อโรคจำเพาะ (Specified Pathogen Free System) ระบบปลอดเชื้อสมบูรณ์ (Germ Free System) และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในการเลี้ยงสัตว์ (Animal Biosafety) ระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบ
4. สถานที่ดำเนินการต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้บุคคล ยานพาหนะ ที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงสิ่งรบกวนและสัตว์อื่นเข้าไปภายในสถานที่หรือบริเวณต้องห้าม และไม่ให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้หลุดออกไปภายนอกได้
5. เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนินการต่อสัตว์ เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ประจำสถานที่ดำเนินการต้องมีลักษณะและจำนวนที่เหมาะสมกับวิธีการเลี้ยง หรือระบบการเลี้ยง ประเภท ชนิด จำนวนของสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และลักษณะของงานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
6. กำหนดให้ผู้รับผิดชอบสถานที่ดำเนินการต้องจัดให้มีการประเมินความเสี่ยง แผนจัดการความเสี่ยง และแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือภัยธรรมชาติไว้ให้ชัดเจน และมีการซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 ธันวาคม 2562