เรื่อง ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 14 การประชุมรัฐภาคี อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 9 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 9
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 14 การประชุมรัฐภาคี อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 9 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 9 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติข้อตัดสินใจที่สำคัญในการประชุมรัฐภาคีของ 3 อนุสัญญาดังกล่าว ดังนี้
1) ให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการ ดังนี้
1.1 ในฐานะหน่วยงานผู้มีอำนาจ (Competent Authority : CA) ภายใต้อนุสัญญา บาเซล ฯ เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรายการของเสียอันตราย ภายใต้ขอบเขตการปฏิบัติงานตามกฎหมายภายในประเทศ กล่าวคือ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2562 เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับการแก้ไขภาคผนวก 2 ภาคผนวก 8 และ ภาคผนวก 9 ของอนุสัญญาบาเซลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขยะพลาสติก
1.2 ในฐานะหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐ (Designated National Authority :DNA) ด้านสารเคมีอุตสาหกรรม ภายใต้อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯดำเนินการแจ้งท่าทีตอบรับนำเข้า (import response) สำหรับ hexabromocyclododecane ที่ได้รับการบรรจุเพิ่มเติมในภาคผนวกที่ 3 ของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีในข้อบทที่ 10 ของอนุสัญญารอตเตอร์ดัม
1.3 ควบคุมสาร PFOA, its salts and PFOA –related compounds ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ 2535 เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีในข้อบทที่ 3 ของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ
2) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมวิชาการเกษตรดำเนินการ ดังนี้
2.1 ในฐานะหน่วยงานผู้มีอำนาจรัฐ ด้านสารเคมีป้องกันศัตรูพืชและสัตว์ ภายใต้อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ดำเนินการแจ้งท่าทีตอบรับนำเข้าสำหรับสาร phorate เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีในข้อบทที่ 10 ของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ
2.2 ยกระดับการควบคุมสาร dicofol เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีในข้อบทที่ 3 ของอนุสัญญาสตอกโฮลม์ฯ
คณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยอธิบดีควบคุมมลพิษ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ผู้แทนจาก ทส. อก. กษ. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงต่างประเทศ (กต.) รวมทั้งประธานและผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอนุสัญญา ฯ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 14 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 9 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 9 ในระหว่างวันที่ 29 เมษายน -10 พฤษภาคม 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยหัวข้อของการประชุมเน้นเรื่องโลกสะอาดมนุษย์มีสุขภาพดีด้วยการจัดการสารเคมีและของเสียอย่างเหมาะสม (Clean Planet , Healthy People : Sound Management of Chemical and Waste) รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
การประชุม รัฐภาคีอนุสัญญา บาเซลฯสมัยที่ 14
มติข้อตัดสินใจ
1. การรับรองการแก้ไขภาคผนวกที่ 2 ภาคผนวกที่ 8 และภาคผนวกที่ 9 ของอนุสัญญาบาเซลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับของเสียพลาสติก ตามข้อเสนอของประเทศนอร์เวย์
2. เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานภายใต้หุ้นส่วนความร่วมมือเกี่ยวกับของเสียพลาสติกเพื่อดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นขยะพลาสติกและไมโคร พลาสติก
3. การรับรองแนวทางเกี่ยวกับการจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น แนวทางสำหรับช่วยเหลือประเทศภาคีในการพัฒนายุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่ของของเสียอันตรายและของเสียอื่น รวมทั้งเห็นชอบให้มีการปรับปรุงแนวทางด้านเทคนิควิชาการต่างๆ เช่น แนวทางด้านเทคนิควิชาการสำหรับการจัดการของเสียที่ปนเปื้อนด้วยสารประกอบปรอทอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวทางในการจำแนกและการจัดการของเสียพลาสติกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. การเห็นชอบให้มีการส่งเสริมให้ภาคีและผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปในการวิจัยและพัฒนามาตรการอื่น ๆตามความเหมาะสมในการพัฒนาข้อมูล ซึ่งเป็นที่ต้องการเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากของเสียที่มีวัสดุนาโนเป็นองค์ประกอบ รวมถึงการพัฒนายุทธศาสตร์สำหรับการจัดการของเสียที่มีวัสดุ นาโนเป็นองค์ประกอบอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การดำเนินการของไทย
อก.ในฐานะหน่วยงานของผู้มีอำนาจภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดของเสียอันตรายภายใต้ขอบเขตการปฏิบัติงานตามกฎหมายภายในประเทศ คือพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2562
การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯสมัยที่ 9
มติข้อตัดสินใจ
1. การพิจารณาบรรจุรายชื่อสารเคมีเพิ่มเติมในภาคผนวก III ของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ 2 ชนิด คือ สาร hexabromocyclododecane (สารเคมีอุตสาหกรรม) และสาร phorate (สารเคมีป้องกันศัตรูพืชและสัตว์) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน 2562 ซึ่งภาคีสมาชิกจะต้องดำเนินการแจ้งท่าทีตอบรับนำเข้า (import response ) ตามพันธกรณีในข้อบทที่ 10 ของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ทั้งนี้ สารชนิด
อื่น ๆ ที่ประชุมรัฐภาคีฯสมัยที่ 9 ไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ เช่นแร่ใยหินไครโซไทล์ (ส่วนผสมของวัสดุก่อสร้างต่างๆเช่นกระเบื้องหลังคา กำแพง ) สูตรผสมของสาร paraquat dichloride (สารเคมีกำจัดวัชพืช) จะนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมรัฐภาคีรอตเตอร์ดัมฯสมัยที่ 10 ต่อไป
2. การเพิ่มภาคผนวก VII ของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯเพื่อจัดตั้งกลไกการปฏิบัติตามอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ (compliance) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับหลังจากวันครบกำหนด1 ปี นับจากวันที่ผู้เก็บรักษาอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ (เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ) แจ้งภาคีสมาชิกตามข้อ 22 ของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ
การดำเนินการของไทย
1. อก. ในฐานะหน่วยงานผู้มีอำนาจรัฐ ด้านสารเคมีอุตสาหกรรมภายใต้อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯดำเนินการแจ้งท่าทีตอบรับนำเข้า (import response) สำหรับสาร hexabromocyclododecane
2. กษ. ในฐานะหน่วยงานผู้ที่มีอำนาจรัฐ ด้านสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ภายใต้อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯดำเนินการแจ้งท่าทีตอบรับนำเข้าสาร phorate
การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 9
มติข้อตัดสินใจ
1. การพิจารณาบรรจุรายชื่อสารเคมีเพิ่มเติมในภาคผนวกของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ 2 ชนิดซึ่งภาคีสมาชิกจะต้องดำเนินการมาตรการในการห้ามผลิต ห้ามใช้และกำจัดสารดังกล่าวให้หมดไป คือ 1) สาร dicofol โดยไม่มีข้อยกเว้นพิเศษและ 2) สารกลุ่ม Perfluorooctanoic acid (PFOA) its salts and PFOA –related compounds โดยมีข้อยกเว้นพิเศษสำหรับและการใช้บางอย่าง
2. มาตรการในการลดหรือเลิกการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (สาร POPs) จากการผลิตและการใช้โดยจงใจ โดยให้ปรับปรุงแก้ไขภาคผนวก B ของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สำหรับ Perfluorooctane sulfonic acid (PFOS) , its salts and perfluorooctane sulfonyl fluoride (PFOSF) ในประเด็นวัตถุประสงค์ที่ยอมรับได้และข้อยกเว้นพิเศษ โดยให้มีการใช้สารเคมีดังกล่าวสำหรับวัตถุประสงค์ที่ยอมรับได้
3. ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 9 ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นกลไกการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ (compliance) โดยขอให้นำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯสมัยที่ 10 ต่อไป
การดำเนินการของไทย
1. อก. ควบคุมสาร PFOA, its salts and PFOA –related compounds ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
2. กษ. ยกระดับการควบคุมสาร dicofol เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่4 ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 ธันวาคม 2562