1. รับทราบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/63 (คู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว) ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก กรณีค่าฝากเก็บและค่ารักษาคุณภาพข้าวเปลือก วงเงิน 1,500.00 ล้านบาท (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกรวงเงิน 562.50 ล้านบาท และ (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก วงเงิน 510 ล้านบาทเพื่อดูดซับปริมาณข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เป้าหมาย 6.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงิน 2,572.5 ล้านบาท จากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)
2. เห็นชอบการอนุมัติจัดสรรวงเงินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (เพิ่มเติม) โดยให้ ธ.ก.ส. ขอจัดสรรวงเงินจากงบประมาณ ปี 2564 และปีถัดๆ ไป วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,370.72 ล้านบาท จำแนกเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. (ปัจจุบันร้อยละ 1.4 ต่อปี) บวก 1 เท่ากับ 2.40 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ ธ.ก.ส. ทำความตกลงในการชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. และกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบแล้ว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 และค่าบริหารโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีระยะเวลา 6 เดือน รวมวงเงิน 340.00 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายกรณีที่มีการระบาย ได้แก่ ค่าขนย้ายข้าวเปลือก ต้นทุนเงินค่าขนย้ายข้าว และส่วนต่างภาระขาดทุนจากการระบายข้าว วงเงิน 1,030.72 ล้านบาท
คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ดังนี้
1. รับทราบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/63 (คู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว) เพื่อดูดซับปริมาณข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เป้าหมาย 6.5 ล้านตันข้าวเปลือก โดยขอรับจัดสรรงบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เป็นเงินจ่ายขาดเพื่อดำเนินโครงการ วงเงิน 2,572.5 ล้านบาท ดังนี้
1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/63 (โดย ธ.ก.ส.)
1.1) วงเงินสินเชื่อ ปริมาณ และราคาข้าวเปลือกในการจ่ายเงินกู้ วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกที่ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 และกำหนดเป้าหมาย ปริมาณ 1 ล้านตันข้าวเปลือก ราคาข้าวเปลือกในการให้สินเชื่อต่อตันในอัตราร้อยละ 80 ของราคาตลาดข้าวเปลือกเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (เดือนกันยายน 2559 ถึงเดือนสิงหาคม 2562) ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิชนิด 36 กรัมขึ้นไปในเขตพื้นที่ 23 จังหวัด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา) ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิชนิด 36 กรัมขึ้นไปที่ปลูกนอกพื้นที่ 23 จังหวัด ตันละ 9,900 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,700 บาท
1.2) ค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก (ต้องเก็บไว้อย่างน้อย 1 เดือน ระยะเวลาไถ่ถอน 5 เดือน) เกษตรกรที่เก็บไว้ในยุ้งฉาง ตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรได้รับ ตันละ 1,500 บาท (จำแนกเป็นสถาบันเกษตรกร ได้รับ ตันละ 1,000 บาท และให้เกษตรกรที่นำข้าวมาฝากเก็บกับสถาบันเกษตรกร ตันละ 500 บาท)
1.3) วงเงินสินเชื่อ เกษตรกร รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตร ไม่เกินสหกรณ์ละ 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร ไม่เกินกลุ่มละ 20 ล้านบาท วิสาหกิจชุมชน (รวมถึงศูนย์ข้าวชุมชน) ไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท
1.4) ระยะเวลาจัดทำสัญญาเงินกู้ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2562 – 29 กุมภาพันธ์ 2563 และระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2563
1.5) การระบายข้าวเปลือกโครงการ กรณีราคาข้าวในตลาดต่ำกว่าราคาให้สินเชื่อให้ขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ออกไปอีกไม่เกิน 3 คราว คราวละ 1 เดือน หากราคาข้าวเปลือกยังไม่สูงขึ้นให้คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด ดำเนินการระบายข้าวเปลือกตามโครงการ
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2562/63 (โดย ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร (ไม่รวมชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภท) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาท และจำนวนสินเชื่อคงเหลือภายในระยะเวลาโครงการฯ ไม่เกิน วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย โดยคิดอัตราดอกเบี้ย ในอัตรา MLR -1 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 4 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ร้อยละ 5 ต่อปี) โดยมีผู้รับผิดชอบ ดังนี้ (1) สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และ (2) คชก. รับภาระชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 – 30 กันยายน 2563 ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2562 – 31 ธันวาคม 2563 วงเงินงบประมาณ 562.50 ล้านบาท
3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2562/63 (โดยกรมการค้าภายใน) ให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการเก็บสต็อก ในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เป้าหมายดูดซับ 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร/ผู้รวบรวม ในราคาตลาดตามการค้าปกติ เก็บสต็อกอย่างน้อย 60 – 180 วัน (2 – 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยระยะเวลารับซื้อ ตั้งแต่ 20 พฤศจิกายน 2562 - 30 เมษายน 2563 (ภาคใต้ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563) และระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ 20 พฤศจิกายน 2562 - 31 ตุลาคม 2564 โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 วงเงิน 510 ล้านบาท
2. เห็นชอบการจัดสรรวงเงินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (เพิ่มเติม) โดยให้ ธ.ก.ส. ขอจัดสรรวงเงินจากงบประมาณ ปี 2564 และปีถัดๆ ไป วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,370.72 ล้านบาท ตามที่ ธ.ก.ส. เสนอ เพื่อให้การดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอให้รัฐบาลรับภาระเงินชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. จากการให้สินเชื่อเกษตรกร/สถาบันเกษตรตามโครงการฯ ในอัตราร้อยละ2.40 ต่อปี รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายกรณีที่มีการระบายข้าว ได้แก่ ค่าขนย้ายข้าวเปลือก ต้นทุนเงินค่าขนย้ายข้าว และส่วนต่างภาระขาดทุนจากการระบายข้าวร้อยละ 10 ของวงเงินสินเชื่อ โดยจำแนกเป็น
1) ค่าชดเชยดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. (ปัจจุบันร้อยละ 1.4 ต่อปี) บวก 1 เท่ากับ 2.40 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และธ.ก.ส. ทำความตกลงในการชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. และกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบแล้ว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 และค่าบริหารโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีระยะเวลา 6 เดือน รวมวงเงิน 340.00 ล้านบาท
2) ค่าใช้จ่ายกรณีที่มีการระบาย ได้แก่ ค่าขนย้ายข้าวเปลือก ต้นทุนเงินค่าขนย้ายข้าว และส่วนต่างภาระขาดทุนจากการระบายข้าว วงเงิน 1,030.72 ล้านบาท
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 ธันวาคม 2562