คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารขอบเขตหน้าที่ (Term Of Reference: TOR) ของศูนย์ระดับโลกเพื่อการศึกษาแม่น้ำโขง (The Global Center for Mekong Studies : GCMS) และอนุมัติให้สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (สป.กต.) GCMS Thailand Center โดยผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ให้การรับรอง TOR ของศูนย์ GCMS ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่าง TOR ของศูนย์ GCMS ให้กระทรวงการต่างประเทศ สามารถดำเนินการได้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของไทย โดยไม่ต้องเสนอปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำนั้นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ
1. วิสัยทัศน์ ศูนย์ GCMS ถูกกำหนดให้เป็นเครือข่ายเพื่อความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการของสถาบันคลังสมองในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง มีเป้าหมายเพื่อให้การสนับสนุนทางปัญญาแก่กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง
2. การดำเนินงาน ศูนย์ GCMS ของแต่ละประเทศมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการแต่งตั้งผู้ประสานงานเพื่อเข้าร่วมการประชุมประสานงานของศูนย์ GCMS โดยการประชุมผู้ประสานงานฯ จะเป็นกลไกลเพียงหนึ่งเดียวในการตัดสินใจโดยอยู่บนพื้นฐานของหลักฉันทามติและการปรึกษาหารือที่ใกล้ชิดและฉันมิตร
3. กิจกรรม ประธานร่วมจะจัดการประชุมเครือข่ายคลังสมองของศูนย์ GCMS ทุกปี โดยศูนย์ GCMS อาจนำเสนอข้อเสนอ/ข้อเสนอแนะ ผลงานวิจัย และการจัดกิจกรรมที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยเสนอผ่านช่องทางคณะทำงานร่วมทางการทูต และที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ไปยังที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างเพื่อพิจารณาตามลำดับ ทั้งนี้ ศูนย์ GCMS จะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ได้แก่ ฉันทามติ ความเท่าเทียมกัน การปรึกษาหารือร่วมและการประสานงาน ความสมัครใจ การมีส่วนร่วมและการได้รับประโยชน์ร่วมกัน การเคารพในกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ ระเบียบ ข้อบังคับ และขั้นตอนของแต่ละประเทศสมาชิก บนพื้นฐานแห่งเจตนารมณ์แห่งมิตรภาพ การเปิดกว้าง การมีส่วนร่วม และเสริมสร้างสาขาที่สำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน และความร่วมมืออาเซียน – จีน และสอดประสานกับกลไกความร่วมมือในอนุภูมิภาคที่มีอยู่
4. งบประมาณ งบประมาณหลักในการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ GCMS จะมาจากกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง
5. กระบวนการทบวน เนื้อหาของขอบเขตหน้าที่นี้จะได้รับการทบทวนโดยผู้ประสานงานของ ศูนย์ GCMS เพื่อการศึกษาแม่น้ำโขงเมื่อเห็นว่าเหมาะสมและมีความจำเป็น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 ธันวาคม 2562